สุเมธ ปะเย ชายหนุ่ม วัย 31 ปี ใช้เวลาตลอดทั้งวัน ทำงานจัดเตรียมห้องประชุม สำหรับประชุมชี้แจงผู้ปกครอง ก่อนวันเปิดเทอม ทำความสะอาดอาคารเรียน และดูแลต้นไม้ ทั้งหมดเป็นภารกิจในวันแรกของการทำหน้าที่นักการภารโรง โรงเรียนบ้านแม่แต อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
สุเมธ ปะเย นักการภารโรง
สุเมธ เล่าว่า เคยทำงานดูแลโรงสีข้าวชุมชนได้เงินเดือน 13,000 บาท แต่ต้องแยกกันอยู่กับภรรยาและลูกสาว เมื่อทราบว่า โรงเรียนในหมู่บ้านของภรรยา รับสมัครนักการภารโรง จึงตัดสินใจมาสมัคร แม้จะได้ค่าตอบแทนเพียง 9,000 บาท แต่ก็มีบ้านพักให้อาศัยและได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว
เงินเดือน 9 พันบาท จริงๆ ไม่พอใช้จ่าย แต่อาศัยเงินเดือนของภรรยาด้วย ก็น่าจะเพียงพอ งานที่ผมเคยทำก่อนหน้านี้ ล้วนมีจำนวนมากกว่า 1 หมื่นบาท แต่มาอยู่ที่นี่ ได้ 9 พัน แลกกับการได้อยู่ดูแลลูกและภรรยา
แต่ใช่ว่า โรงเรียนทุกแห่งจะมีนักการภารโรง ทำงานในวันแรกของการจ้างงาน เช่นที่โรงเรียนบ้านโป่งเกลือ ต.ดอยลาน อ.เมืองเชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดเหตุครูถูกทำร้ายร่างกายขณะเข้าเวร
จนกระทรวงศึกษาธิการยกเลิกครูเวร คืนนักการภารโรงแก่ทุกโรงเรียน และ ให้ครูได้กลับไปทำหน้าที่สอนหนังสือได้อย่างเต็มที่
วันนี้ ยังไม่พบนักการภารโรงเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ มีการปิดประตูทางเข้าออก และ อาคารเรียน ก็ปิดประตูไว้อย่างแน่นหนา
ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า ช่วงปิดเทอมจะมีครูหมุนเวียนกันมาดูแลโรงเรียนบ่อยๆ แต่ไม่ได้อยู่ประจำ ส่วนการเพิ่มนักการภารโรงชาวบ้านยังไม่ทราบเรื่อง แต่เชื่อว่าน่าจะมีนักการภารโรงมาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเปิดภาคเรียนนี้
พรเทพ ดวงปันสิงห์ เลขาธิการสหพันธ์ครูภาคเหนือ
พรเทพ ดวงปันสิงห์ เลขาธิการสหพันธ์ครูภาคเหนือ และรองเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สาเหตุที่หลายโรงเรียนยังไม่มีนักการภารโรง เป็นเพราะระยะเวลาการสั่งการ ให้ประกาศรับสมัครจากเขตพื้นที่การศึกษาที่กระชั้นชิด รวมทั้งคุณวุฒิที่กำหนดให้ภารโรงต้องจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นเงื่อนไขที่ปิดกั้นโอกาสของผู้ประสงค์จะสมัครเป็นนักการภารโรง
และที่สำคัญคือ อัตราค่าจ้าง เดือนละ 9 พันบาท อาจไม่เพียงพอกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และ เห็นว่าอัตราค่าจ้างนักการภารโรงที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ 12,000 บาท คำนวณจากค่าแรงขั้นต่ำใหม่ 400 บาท ที่รัฐบาลมีแผนจะขึ้นเท่ากันทั่วประเทศภายในปีนี้
ปัญหาเรื่องของคุณวุฒิรวมทั้งเรื่องของค่าจ้าง ทำให้หลายๆโรงเรียนทั่วประเทศน่าจะมีปัญหายังไม่มีภารโรงทำหน้าที่ เฉพาะที่กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนใน อ.สันทราย มีโรงเรียนได้รับตำแหน่งภารโรง 5 คน แต่ได้ภารโรงเพียง 1 คน เท่านั้น ขณะที่โรงเรียนอื่นๆ ยังไม่พร้อมบางคนมาสมัครแล้ว แต่เมื่อเรียกรายงานตัว ก็กลับไม่มา
นอกจากการคืนตำแหน่งนักการภารโรงแล้ว สิ่งที่รองเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย เสนอให้ภาครัฐพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยในโรงเรียนคือ การติดตั้งกล้องวงจรปิด
เพราะหลังเกิดเหตุทำร้ายครูในโรงเรียน และยกเลิกครูเวร กล้องวงจรปิด กลายเป็นสิ่งจำเป็น ที่หลายๆ โรงเรียนต้องเร่งจัดหา หากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่งบประมาณมาก ก็คงไม่มีปัญหา แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนงบประมาณ ทางโรงเรียนจึงต้องใช้วิธีทอดผ้าป่าสามัคคีสามัคคีเพื่อติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด
เลขาธิการสหพันธ์ครูภาคเหนือ เห็นว่าประเด็นความปลอดภัยในโรงเรียน ถือเป็นเรื่องสำคัญ และ มีส่วนสร้างคุณภาพการศึกษาแก่โรงเรียน จึงเห็นว่าภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณเพื่อติดตั้งกล้องวงปิดให้แก่ทุกๆ โรงเรียน
พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ