ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

24 เม.ย. "วันเทศบาล" วันการปกครองท้องถิ่นไทย

ไลฟ์สไตล์
24 เม.ย. 67
08:27
1,157
Logo Thai PBS
24 เม.ย. "วันเทศบาล" วันการปกครองท้องถิ่นไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"วันเทศบาล" ตรงกับวันที่ 24 เม.ย.ของทุกปี ตั้งขึ้นเพื่อตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับคนในชุมชนมากที่สุด ปี 2567 กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายพันธกิจสำคัญคือ "ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที"

กำเนิด "การปกครองท้องถิ่น" ในไทย

  • สมัย ร.5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูประบบการบริหารงานแผ่นดินเพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศตะวันตกที่กำลังแผ่อิทธิพลเข้ามา โดยมีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) ต่อมาวันที่ 18 มี.ค. ร.ศ.124 (พ.ศ.2554) จัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร หลังจากนั้นมีการตรา พ.ร.บ.จัดสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.127

  • สมัย ร.6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้มีการปลูกฝังให้ประชาชนเรียนรู้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยจึงทรงจัดตั้ง "ดุสิตธานี"

  • สมัย ร.7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงมีพระราชประสงค์ให้เตรียมการร่างกฎหมายเทศบาล แต่เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อนเมื่อปี พ.ศ.2475

จุดเริ่มต้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น "รูปแบบเทศบาล"

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินกำหนดให้มีราชการบริหารส่วนท้องถิ่นที่แท้จริง คือ เทศบาล ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล

วันที่ 24 เม.ย.2476 ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 เทศบาลจึงได้ถือกำเนินในปี พ.ศ.2478 โดยประกาศเป็น พ.ร.ฎ.จัดตั้งเทศบาล (ตามด้วยชื่อเทศบาล) พ.ศ.2478 มี รมว.มหาดไทยเป็นผู้รักษาการ และมีผลตั้งแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น เทศบาลจึงคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรงมหาดไทย

รุ่นแรกจัดตั้งได้ 48 เทศบาล (ยกฐานะจากสุขาภิบาล 35 แห่ง) แต่ละปีจัดตั้งเทศบาลเพิ่มขึ้นกระทั่งปี 2489 มีเทศบาลทั้งสิ้น 117 เทศบาลช่วงแรกๆ ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะพื้นที่มีความเจริญแตกต่าง กฎหมายจำกัดภารกิจ ประชาชนยังไม่เข้าใจ รัฐบาลควบคุมใกล้ชิดเกินไปกระทั่งประกาศใช้ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 เป็นกฎหมายแม่บทที่ใช้มาถึงปัจจุบัน แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 13 พ.ศ.2552

ขนาดของเทศบาล

เทศบาลในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาลนั้นๆ ใน พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 9, 10, 11 ได้กำหนดขนาดเทศบาล ดังนี้

  1. มาตรา 9 เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลตำบลประกอบไปด้วยสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี

    สภาเทศบาลมีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 12 คน รองนายกเทศมนตรีไม่เกิน 2 คน

  2. มาตรา 10 เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลเมือง การจัดตั้งเทศบาลเมืองจะกระทำได้โดยการประกาศกระทรวงมหาดไทยโดยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง

    เทศบาลเมืองประกอบไปด้วยสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี โดยที่สภาเทศบาลมีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 18 คน รองนายกเทศมนตรีไม่เกิน 3 คน

  3. มาตรา 11 เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลนคร การจัดตั้งเทศบาลนครจะกระทำได้โดยการประกาศกระทรวงมหาดไทยโดยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร

    เทศบาลนครประกอบไปด้วยสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี (หรือนายกเทศมนตรี) แล้วแต่กรณี โดยที่สภาเทศบาลมีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 24 คน รองนายกเทศมนตรีไม่เกิน 4 คน นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้เทศบาลนครมีหน้าที่แตกต่างไปจากเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลอีกด้วย

บทบาทหน้าที่ของสภาเทศบาล และคณะเทศมนตรี/นายกเทศมนตรี

หน้าที่ของสภาเทศบาล โดยหลักการแล้ว มีสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

  1. เลือกฝ่ายบริหาร
  2. สะท้อนความต้องการของประชาชนในเขตเทศบาล
  3. ออกเทศบัญญัติ 
  4. ตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร

หน้าที่ของนายกเทศมนตรี - รองนายกเทศมนตรี ตามกฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของนายกเทศมนตรีดังนี้ 

  1. กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย รับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาล ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติและนโยบาย
  2. สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาล
  3. แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรี
  4. วางระเบียบเพื่อให้งานของเทศบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
  5. รักษาการให้เป็นไปตามเทศบัญญัติ
  6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น

ลักษณะการใช้อำนาจของนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนี้ แตกต่างจากการใช้อำนาจของนายกเทศมนตรีในรูปแบบคณะเทศมนตรีในสมัยก่อน กล่าวคือ นายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงมีลักษณะการใช้อำนาจที่เด็ดขาดกว่า และเป็นผู้ใช้อำนาจแต่เพียงคนเดียว ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจร่วมกับรองนายกเทศมนตรี ซึ่งสามารถสร้าง "ภาวะผู้นำ" ให้แก่นายกเทศมนตรีได้มากกว่านายกเทศมนตรีในรูปแบบคณะเทศมนตรี ที่นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกของสภาเทศบาล

ที่มา : สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, สถาบันพระปกเกล้า 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง