ความคืบหน้าเหตุยิงปะทะระหว่างทหารฝ่ายต่อต้านกับทหารเมียนมา บริเวณบ้านเหย่ปู่ จ.เมียวดี เมียนมา ห่างจากด่านพรมแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามบ้านวังตะเคียนใต้ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ประมาณ 1.5 กิโลเมตร
ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวเป็น 1 ในจุดที่มีการสู้รบหนักที่สุด ทั้งการใช้โดรนทิ้งระเบิดของฝ่ายต่อต้านทหารเมียนมา และฝ่ายทหารเมียนมาใช้เครื่องบินรบ และเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการทางอากาศ ทำให้ทหารเมียนมากองพัน 275 (ค่ายผาซอง) เสียชีวิต 50 นาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
วันนี้ (21 เม.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเหตุปะทะดังกล่าวทำให้ชาวเมียนมาจำนวนมากข้ามมายังฝั่งไทย ซึ่งหน่วยกู้ภัยได้ส่งตัวผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งทางโรงพยาบาลต้องระดมกำลังแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ช่วยเหลือชาวเมียนมาที่ได้รับบาดเจ็บมาจำนวนมาก โดยไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นฝ่ายต่อต้าน หรือฝ่ายทหารเมียนมา หรือประชาชน เพราะถือเป็นผู้ป่วย และต้องให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม
ชาวเมียนมา เข้ารักษาตัว 32 คน
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีผู้หนีภัยความไม่สงบจากฝั่งเมียวดีเข้ามายังพื้นที่ จ.ตาก ว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ฝั่งเมียนมา ห่างจากแนวชายแดนไทยประมาณ 2-3 กิโลเมตร ตั้งแต่คืนวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีชาวเมียนมาหนีภัยความไม่สงบข้ามมายัง อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นจำนวนมาก
ในวันนี้ (21 เม.ย.) ได้รับรายงานจาก นพ.ปองพล วรปาณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก และ นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ว่า ขณะนี้มีผู้หนีภัยฯ เข้ามายังพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว จ.ตาก จำนวน 5 แห่ง รวมทั้งหมด 3,027 คน เป็นชาย 1,128 คน หญิง 1,118 คน และเด็ก 781 คน
ซึ่งวันนี้ รพ.ได้รับผู้บาดเจ็บชาวเมียนมาจากบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เข้ารับการรักษา รวม 32 คน เป็นผู้ป่วยอาการหนักสีแดง 8 คน อาการปานกลางสีเหลือง 17 คน และอาการเล็กน้อยสีเขียว 7 คน โดยโรงพยาบาลแม่สอดมีแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้หนีภัยฯ เข้ามาเพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งประสานหน่วยงานเอกชน (NGO) ที่พร้อมให้การช่วยเหลือ ดูแลผู้หนีภัยฯ ที่เข้ามายังพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวตามหลักมนุษยธรรม โดยจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คัดกรองและเฝ้าระวังโรคติดต่อ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น มาลาเรีย ตั้งจุดปฐมพยาบาลดูแลสุขภาพ และตรวจสุขาภิบาลน้ำดื่มน้ำใช้ พร้อมทั้งมีแผนเตรียมการด้านบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้พร้อมรองรับสถานการณ์
อ่านข่าว : ปะทะเดือด! ชาวเมียนมาหนีภัยสู้รบเข้าไทยกว่า 2,000 คน
ชาวเมียนมาหนีภัยสู้รบ กระสุนถูกยิงเข้าฝั่งไทยทะลุหน้าต่างบ้าน
กะเหรี่ยง ยิงระเบิดโจมตีฐานทหารเมียนมา ใกล้สะพานมิตรภาพแห่งที่2