ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครั้งแรกในไทย ค้นพบ “ผึ้งหลวงหิมาลัย” บนดอยผ้าห่มปก

สิ่งแวดล้อม
19 เม.ย. 67
14:15
1,147
Logo Thai PBS
ครั้งแรกในไทย ค้นพบ “ผึ้งหลวงหิมาลัย” บนดอยผ้าห่มปก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ แถลงค้นพบ “ผึ้งหลวงหิมาลัย” ที่อาศัยแถวเทือกเขาหิมาลัย บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่

วันนี้ (19 เม.ย.2567) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการค้นพบ “ผึ้งหลวงหิมาลัย” ซึ่งเป็นรายงานครั้งแรกที่พบตัวในประเทศไทย โดยคณะนักวิจัย ได้แก่ นายอิสราพงษ์ วรผาบ นักกีฏวิทยาชำนาญการ กรมอุทยานฯ นายนนธวัช ฉัตรธนบูรณ์ ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ และ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้ร่วมศึกษาผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งเป็นผึ้งที่เคยมีรายงานพบเฉพาะในแนวเทือกเขาหิมาลัยของเนปาลและอินเดียเท่านั้น

นายอิสราพงษ์ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ไปสำรวจและติดตามประชากรผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ซึ่งอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ โดยยังพบเรื่องน่าสนใจว่าผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลมีลักษณะ 2 เพศในตัวเดียวกัน ซึ่งมีโอกาสยากมากที่จะเกิดขึ้น

นายอิสราพงษ์ กล่าวอีกว่า แต่ในระหว่างการสำรวจยังพบผึ้งลักษณะคล้ายผึ้งหลวงบินจากหน้าผา และก่อนจะลงไปรัง ผึ้งตัวดังกล่าวเกาะบนใบไม้และทำความสะอาดตัวเอง ครั้งแรกคิดว่าเป็นผึ้งหลวงที่พบในไทย และพบว่าบินอยู่หลายตัว จึงถ่ายภาพมาและวิเคราะห์เบื้องต้น ทำให้เห็นผึ้งตัวนี้มีความต่างคือลำตัวมีสีดำ จึงเก็บตัวอย่างกลับมา 3 ตัวอย่าง

เบื้องต้นสันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้จะเป็นผึ้งหลวงหิมาลัย ที่อาศัยแถวเทือกเขาหิมาลัย จึงทำโครงการวิจัยสำรวจว่าผึ้งชนิดนี้อาศัยในไทยหรือแค่บินผ่านมาเฉยๆ

นายอิสราพงษ์ กล่าวอีกว่า จากนั้นได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านและพบว่ามีผึ้งหลวงหิมาลัยบินลงหน้าผาไป ทีมวิจัยสังเกตและติดตามและลงไปสำรวจจนพบรังผึ้งตรงชะง่อนผาหินแนวตั้งถึง 8 รัง ตอนนั้นเจอแค่จุดเดียว พบความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร บนดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่

ชี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนอาจส่งผลต่อประชากร

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพจน์ กล่าวว่า หลังจากนำตัวอย่างมาจำแนกจึงยืนยันว่าเป็นผึ้งหลวงหิมาลัยจริงๆ และถือเป็นรายงานแรกที่พบผึ้งชนิดนี้อาศัยในไทยที่ดอยผ้าห่มปก เนื่องจากผึ้งกลุ่มนี้อาศัยในพื้นที่หนาวเย็น

ลักษณะที่แตกต่างคือผึ้งมีร่างกายสีดำ มีขนสีเหลืองทองปกคลุมส่วนอก และส่วนต้นของปล้องท้องปล้องแรก และทำรังบนชะง่อนผาทำให้ชื่อที่คนเรียกทั่วไปจึงเรียกว่า ผึ้งหิน หรือผึ้งหน้าผาสูง

ผศ.ดร.ณัฐพจน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ประหลาดใจคือ ผึ้งหลวงหิมาลัย อพยพมาอยู่บนชะง่อนผาสูงบนดอยผ้าห่มปก ที่ความสูง 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่บินอพยพมาไกลมากห่างจากจุดเดิมของเมียนมา จีน และลาวถึง 240 กม. โดยการสำรวจปี 2565 เจอการรวมกลุ่มตั้งแต่ มี.ค.และจะทิ้งรังในเดือน ก.ค.จากนั้นในปี 2566 ทางกรมอุทยานฯ กลับไปสำรวจและพบว่ามันกลับมาทำรังที่เดิม นั่นหมายถึงมันอพยพมาในช่วงหน้าฝน

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นกระทบต่อการดำรงชีวิตที่ดอยผ้า ห่มปกหรือไม่ รวมทั้งกระทบต่อการผลิตน้ำผึ้งหรือไม่ เพราะพบว่าน้ำผึ้งจากผึ้งหลวงหิมาลัยมีน้ำหวานจากดอกกุหลาบพันปี ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศถ้าอุณหภูมิสูง มันอาจจะไม่อพยพมาในจุดนี้อีก"

นักวิชาการ กล่าวว่า คุณสมบัติของน้ำผึ้งชนิดนี้ในเนปาล อินเดีย ศึกษาพบว่ามีสารเมา แม้แต่ชาวตะวันตกและนักท่องเที่ยวยังเดินทางไปเพื่อดูผึ้งหลวงหิมาลัย และอุดหนุนน้ำผึ้งเมา และสนับสนุนให้อนุรักษ์ผึ้งชนิดนี้ เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ดังนั้นจึงยังต้องมีการศึกษาประชากรผึ้งหลวงหิมาลัยในพื้นที่อื่นๆ เช่น ดอยอินทนนท์ รวมทั้งจุดอื่นของดอยสูงทางภาคเหนือของไทย และศึกษาคุณสมบัติของน้ำผึ้ง และประชากรในไทยว่าภาวะโลกร้อนจะกระทบต่อผึ้งหรือไม่ โดยทำโมเดลว่าทุก 10 ปีหากร้อนขึ้น 1 องศาฯ จะกระทบต่อขอบเขตการกระจายพันธุ์ของผึ้งมากน้อยแค่ไหน

สำหรับการค้นพบในครั้งนี้ เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทย ที่กำลังถูกรุกรานจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งชนิดต่างๆ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) แต่ก็ยังสามารถพบผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศไทยได้

ทั้งนี้ ผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบยังเป็นผึ้งให้น้ำหวานในสกุล Apis ชนิดที่ 5 ของประเทศไทยจากเดิมที่มีรายงานอยู่เพียง 4 ชนิด คือ ผึ้งหลวง (Apis dorsata) ผึ้งมิ้ม (Apis florea) ผึ้งม้าน (Apis andreniformis) และผึ้งโพรง (Apis cerana) ซึ่งไม่รวมผึ้งพันธุ์ (Apismellifera) ที่เป็นผึ้งสายพันธุ์ต่างถิ่น

อ่านข่าวอื่นๆ :

ถ้ามี กม.เคลื่อนย้ายมลพิษ คนไทยจะรับรู้ตั้งแต่แคดเมียมถูกขุด

หยุดจับลิงลพบุรี กรมอุทยานฯ แจง แค่เลื่อนแต่ไม่เลิก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง