ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จริงหรือไม่ ไม่ควรพับผ้าห่มทันที หลังตื่นนอน

ไลฟ์สไตล์
19 มี.ค. 67
14:39
1,270
Logo Thai PBS
จริงหรือไม่ ไม่ควรพับผ้าห่มทันที หลังตื่นนอน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เรื่องบนเตียงเป็นเรื่องสำคัญ ในที่นี้หมายถึงการทำความสะอาด เตียงนอน หมอน ผ้าห่ม ให้สะอาดอยู่เสมอ นั้นเพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อโรค เสริมสร้างสุขอนามัยมัยที่ดี ให้เตียงนอนเป็นการพักผ่อนที่แสนสุข

เราอาจไม่ได้เป็น "สิ่งมีชีวิต" เดียวในห้องก็ได้เพราะอาจมีสิ่งมีชีวิตอื่น ที่ตัวเล็ก ๆ จนเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตามผ้าม่าน หมอน ผ้าห่มที่อยู่บนที่นอน ฉะนั้นไปหาคำตอบกันว่า ในห้องนอนมักพบอะไรที่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้บ้าง และจะทำอย่างไรให้ห้องนอนเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพดี  

อ่าน : "ปิดฝาชักโครก ก่อนกดน้ำ" ลดเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อโรค จริงหรือไม่

ไม่ควรพับผ้าห่มทันที หลังตื่นนอน จริงหรือไม่

ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ที่นำมาใช้แล้วและไม่ได้มีการซักเป็นเวลานาน อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาอีกมายมายไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ หรือ หอบหืด โรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง

มาหาคำตอบกัน ว่าจริง ๆ แล้วทันทีที่เราตื่นนอนเราควรที่จะเก็บที่นอนให้เรียบร้อยทันทีหรือไม่

อาจารย์อ๊อด หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า ขณะนอนหลับร่างกายของมนุษย์อาจมีเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว รวมทั้งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการหายใจ อาจส่งผลให้ผ้าห่มหรือหมอนอาจมีของเสียสะสม และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียได้

อาจารย์อ๊อด กล่าวว่า มีข้อแนะนำของกลุ่มคนที่รักสุขภาพว่า อย่าเพิ่งพับผ้าห่มทันที เพราะอาจจะเป็นการปกปิดสิ่งของเสียที่หลุดออกจากร่างกาย และอาจเป็นการสะสมของเชื้คแบคทีเรีย หากเรากลับมานอนทับในครั้งถัดไปจะเป็นการสะสมของเสียนั้นและเพิ่มขึ้น

อาจารย์อ๊อด จึงแนะนำว่า หลังจากตื่นนอนให้ผึ่งผ้าห่มและพลิกกลับด้าน ให้ของเสียในผ้าห่มได้ระบายออกไป เนื่องจาก "ผนังเซลล์" ของ "แบคทีเรีย" หากเจอสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น "ความร้อน" หรือ "ความชื้น" ในห้องจะทำให้ ผนังเซลล์ของแบคทีเรียทะลุ และตายได้ และทำให้มีการระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สะสมอยู่ ให้เบาบางลงได้

ดังนั้นจึงควรรักษาความสะอาดของผ้าห่มอย่างสม่ำเสมอ ควรเปลี่ยนและซักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ หรือ 2 สัปดาห์ครั้ง ในกรณีของผ้าห่มผืนใหญ่ที่อาจซักไม่ได้บ่อย แนะนำให้ตากแดดหรือตากลม

อ่าน : ปวดท้องบ่อย อย่านิ่งนอนใจ สัญญาณเตือน "มะเร็งกระเพาะอาหาร"

การทดสอบผ้าปูที่นอนเก่าที่ไม่ได้ทำความสะอาด 

ขณะที่ข้อมูลจาก Doctor DSS เพจของกรมวิทยาศาสตร์การบริการ ยกข้อมูลรายงานจาก ศาสตราจารย์ John Blakey ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจจากโรงพยาบาล Sir Charles Gairdner ในออสเตรเลีย มาอธิบาย ว่า หากเราไม่ซักผ้าปูที่นอนเป็นเวลา 1 ปี อาจมีเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วบนที่นอนหนักมากกว่า 1 กิโลกรัม ประกอบกับอากาศชื้น จะเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของ "ไรฝุ่น"

โดยน้ำหนักมากกว่า 10% ของหมอนที่สกปรกเป็นน้ำหนักของไรฝุ่นและของเสียจากตัวไรฝุ่นนับล้านตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหอบหืดและสภาวะภูมิแพ้

นอกจากนี้ การทดสอบผ้าปูที่นอนเก่าที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดยังพบแบคทีเรียที่สามารถทำให้ติดเชื้อที่ปอด Fungi มากกว่า 16 ชนิด สปอร์ของเชื้อราอย่าง Aspergillus fumigatus ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืดได้ หรืออาจไปขัดขวางการทำงานของยาพ่น และยาสูดดมบางชนิดได้ด้วย

อ่าน : ร้อน ร้อน แบบนี้ แนะ 6 วิธีคลายร้อน ช่วงอุณหภูมิสูงแตะ 40 องศาฯ

อย่ามองข้าม "เชื้อรา" ในบ้าน

อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ความอับชื้นที่สะสมอยู่ในบ้าน โดยจะพบร่องรอยของเชื้อราได้ตามเฟอร์นิเจอร์ เครื่องนอน ตู้เสื้อผ้า และพื้นที่ที่มีรูรั่วหรือรอยแตกของบ้าน ทำให้เปียกและอับชื้นเกิดเป็นแหล่งของเชื้อราได้หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลต่อสุขภาพและก่อให้เกิดโรค 

กรมอนามัย อธิบายว่า เชื้อราสามารถสร้างสปอร์ให้กระจายออกไปในอากาศ เมื่อสูดดมเข้าไปในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ คัดจมูก ระคายเคืองตา และอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงตามมา เช่น โรคหอบหืดโรคปอดอักเสบ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการแพ้ เมื่อได้สัมผัสเชื้อราทางผิวหนังหรือการสูดดม จะทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น ผื่นแพ้ ตาอักเสบ เจ็บคอ น้ำมูกไหล เป็นต้น

การกําจัดเชื้อรา ยกตัวอย่างเช่น ผ้าห่ม ให้นำไปต้มในน้ำร้อนเดือดเพื่อฆ่าเชื้อ จากนั้นนำมาซักและขยี้ให้สะอาดแล้วตากในที่ที่มีแสงแดด หากผ้าห่มมีเชื้อราขึ้นมาก ทั้งนี้ การกำจัดเชื้อราบนผ้าห่ม อาจไม่ได้ผล ควรนำไปทิ้งเพื่อป้องกันเชื้อราลุกลามไปยังจุดอื่น ๆ

ก่อนกำจัดเชื้อรา ผ้าห่ม ที่นอนหรือฟูก ควรสวมหน้ากากถุงมือยางป้องกันการได้รับเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย และควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดทันที

ตัวเรือด ตัวร้ายบนเตียงนอน 

ไม่เพียงเท่านี้ หากไม่ได้มีการทำความสะอาดเตียง อาจเสี่ยงเจอกับ "ตัวเรือด" แมลงไม่มีปีกที่มักออกมาดูดเลือดคนในเวลากลางคืนบริเวณที่พัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเตียงนอน หรือบริเวณที่ผู้คนใช้พักผ่อนนอนหลับเป็นประจำ ผู้ที่ถูกกัดดูดเลือดจะรู้สึกคัน เกิดการบวม ผื่นแพ้ และผิวหนังอักเสบ 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อแนะนำถึงวิธีการป้องกัน กำจัดตัวเรือด ไว้ดังนี้

ใช้ความร้อน

  • ต้มผ้าปูที่นอน ม่าน ตลอดจนเครื่องนอนหรือเครื่องใช้อื่นๆ ที่เก็บมาจากห้องพักที่พบตัวเรือด ต้มในน้ำเดือด อย่างน้อย 10 นาที
  • อบด้วยเครื่องอบผ้า ที่อุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที
  • ใช้เครื่องพ่นไอน้ำร้อน พ่นบริเวณที่พบตัวเรือดด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียส (ต้องเป็นช่วงที่ไอน้ำผ่านออกมาจากปลายท่อไม่เกิน 2.5 ซม.)
  • ใช้เครื่องทำความร้อน อบห้องให้อุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 3 ชั่วโมง หรือที่ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 1 ชั่วโมง

ใช้สารเคมี

  • ใช้สารเคมีกำจัดแมลงประเภทผสมน้ำฉีดพ่น เช่น อิมิดาคลอพริด , คลอเฟนาเพอร์ 
  • ใช้ผลิตภัณฑ์เคมีกำจัดแมลงประเภทสเปรย์กระป๋องอัดก๊าซ สูตรน้ำมัน ซึ่งต้องมีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มไพรีทรอยด์ ผสมกันตั้งแต่ 2-4 ชนิด ฉีดพ่นสเปย์รอบกระเป๋าและล้อลาก หลังจากเดินทางกลับถึงบ้าน
  • ต้องฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงดังกล่าวให้ทั่วทุกซอกทุกมุม ที่เป็นแหล่งซ่อนตัวของตัวเรือด จึงจะได้ผล ทั้งนี้การพ่นหมอกควัน โดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดต่างๆ ที่ใช้พ่นกำจัดยุงทั่วๆ ไป ไม่สามารถกำจัดตัวเรือดได้

ชวนทำความสะอาดบ้าน ให้ปลอดฝุ่น

นอกจากนี้ เพื่อสุขอนามัยที่ดี จึงควรใส่ใจทำความสะอาดบ้าน เพื่อลดฝุ่นและแหล่งสะสมเชื้อโรค ซึ่งมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ 

  • คัดแยกสิ่งของที่ไม่จำเป็นหรือไม่ใช้แล้วออกไป เพราะจะเป็นแหล่งสะสมฝุ่น
  • ห้องที่อยู่เป็นประจำ ควรมีเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของให้น้อยชิ้นที่สุด เพื่อจะได้ทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง
  • เช็ดถูบริเวณที่มีฝุ่น และพื้นห้องด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำผสมสบู่หรือผงซักฟอก และฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  • ล้างอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น พัดลม เครื่องปรับอากาศ แผ่นกรองอากาศหรือหน้ากากเครื่องปรับอากาศและมุ้งลวด ให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เป็นประจำ 
  • ควรสร้างสุขนิสัยในการทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ
  • สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยการปลูกต้นไม้ที่มีลักษณะใบเรียวเล็ก ชื้น หยาบ มีขน หรือผิวใบเหนียวเพื่อช่วยดักฝุ่น เช่น ทองอุไร ตะขบ จามจุรี โมก สนฉัตร เป็นต้น
  • ลดหรือเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองเพิ่ม เช่น การจุดธูป-เทียน การเผาขยะ การจุดเตาถ่าน และการสูบบุหรี่

สุดท้ายการพับผ้าให้เป็นระเบียบถือเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ก็ควรรักษาความสะอาดของเตียงนอนของเราเองอย่างสม่ำเสมอ นั้นจะทำให้การนอนหลับพักผ่อนในคืนนี้ จะได้เป็นการหลับที่มีคุณภาพ ผ่อนคลายจากอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานตลอดทั้งวัน 

อ่านข่าวอื่น ๆ

มาหาคำตอบ "วันวสันตวิษุวัต" 20 มี.ค.67 ทำไม "กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน"

Neo-สลิ่ม โจทย์ยาก “ทักษิณ-เพื่อไทย” วันที่คนรุ่นใหม่ ไม่เอา

เปิดภาพให้ FC หายคิดถึง “พลายศักดิ์สุรินทร์” ยังตกมัน-สุขภาพดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง