กรณีโลกออนไลน์ตั้งข้อสงสัยในการเสนอขอใช้งบกลางจำนวน 272.6 ล้านบาทในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่พบปัญหารุนแรงเกินค่ามาตรฐานเกือบ 6 เท่า
วันนี้ (18 มี.ค.2567) นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า งบประมาณที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ได้รับเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นรวม 272.6 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567
อ่านข่าว ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือระดับสีแดงหลายพื้นที่ - เชียงรายพุ่ง 186.7 มคก./ลบ.ม.

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัด ทส.
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัด ทส.
นายเถลิงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับงบ 272.6 ล้านบาท เป็นส่วนของกรมป่าไม้ 109 ล้านบาท และของกรมอุทยานแห่งชาติฯ 162.7 ล้านบาท ในการจ้างประชาชนประจำจุดเฝ้าระวังในพื้นที่ป่าที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า เพื่อร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยการเฝ้าระวังลาดตระเวน แจ้งเหตุไฟไหม้ และดับไฟป่าเบื้องต้นได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และฝุ่นละออง PM 2.5

เจ้าหน้าที่เข้าปัญหาดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ
เจ้าหน้าที่เข้าปัญหาดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ
เปิดแผนใช้งบกลาง 272.6 ล้านจ้างชาวบ้านดับไฟ
ทั้งนี้ โครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.นี้
ประกอบด้วยกิจกรรม
- ค่าจ้างสำหรับจ้างประชาชนเป็นรายบุคคล ประจำจุดเฝ้าระวังไฟป่า จำนวน 3 คน ต่อ 1 จุด คนละ 9,000 บาท
- ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นสำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องเป่าลม
- ค่าจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า ได้แก่ ถังฉีดน้ำดับไฟป่า ไม้ตบไฟ และไฟฉายคาดหัว และอุปกรณ์สนาม
- ค่าวัสดุสำนักงาน กระดาษ หมึกพิมพ์ สำหรับลงทะเบียนการเข้า-ออก ของประชาชนที่ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
- ค่าจัดประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบและการแก้ไขปัญหาไฟป่าให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 1 ครั้ง
- ดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 3 ครั้ง
- ประสานงานและติดตามผลการดำเนินการของจุดเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า
- จัดซื้อเครื่องเป่าลมดับไฟป่า ประจำจุดเฝ้าระวังละ 1 เครื่อง

เป้าหมาย 10 ป่าอนุรักษ์-ป่าสงวน 2,651 จุด
นายเถลิงศักดิ์ กล่าวอีกว่า การในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง 1,069 จุด และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 98 แห่ง จำนวน 1,582 จุด โดยให้ปฏิบัติตาม มติครม.อย่างเคร่งครัด
ทั้งการนำใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ในอดีต และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาใช้ประกอบการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดจุดเฝ้าระวังไฟป่าให้เหมาะสม การจ้างประชาชนเป็นรายบุคคลประจำจุดเฝ้าระวัง จำนวน 3 คน ต่อ 1 จุด โดยมีค่าจ้างคนละ 9,000 บาทระยะเวลา 2 เดือน
นอกจากนี้มีการจัดตั้งจุดเฝ้าระวัง และกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ลงทะเบียนการเข้า-ออก ของประชาชน ที่ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า แจ้งเหตุไฟป่า ลาดตระเวนตรวจหาไฟ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และดับไฟป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทส. กำชับให้ใช้งบโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบกฎหมายบูรณาการกับหน่วยงาน ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ล้อมคอกต้องลงทะเบียน Google Forms
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า สำหรับการติดตาม และแก้ปัญหาใช้งบกลางโดยเฉพาะพื้นที่มุ่งเป้า 10 ป่าสงวนแห่งชาติ และ 11 ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ วางระบบการตรวจสอบและติดตามผล
โดยจะมีการลงข้อมูลของผู้ปฏิบัติงานไว้ในระบบ Google Forms ประกอบด้วยข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ ภาพถ่าย เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และจะมีจีพีเอสรับรู้ตำแหน่ง

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันการทุจริตนั้นระบบ Google Forms การรายงานผลการปฏิบัติงานกับหัวหน้าพื้นที่ป่าตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน และต้องจ้างคนที่มีคุณภาพไม่ให้เอาเด็ก สตรี และคนสูงอายุ เข้ามาเพื่อป้องกันเรื่องความปลอดภัยด้วย และต้องมีตัวตนในพื้นที่ป้องกันจ้างคนนอก
ย้ำว่าห้ามให้ไปจ้างงานต่อกันเป็นทอด ๆ เพราะต้องการให้เม็ดเงินอยู่ในพื้นที่ที่เกิดปัญหาดับไฟ และให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วมจริงๆ ยอมรับว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่เริ่มล้า แนวโน้มดีที่ปัญหาไฟป่าลดลงไปแล้ว 25% ในห้วงเวลาเดียวกับปีก่อน
อ่านข่าว : "อปพร.สายไหม-กู้ภัยร่วมกตัญญู" ทะเลาะวิวาท คาดแย่งผู้บาดเจ็บ
จังหวัดไหนบ้าง ? 19-20 มี.ค.นี้ เจอ "พายุฤดูร้อน"