วันนี้ (16 มี.ค.2567) นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ รองเลขาฯ ส.ป.ก. เข้าตรวจสอบพื้นที่โรงแรมและรีสอร์ตของนายทุน ซึ่งมีชื่อในเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่เชื่อมโยงจุดหลักหมุด ส.ป.ก.เขาใหญ่ บ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และบริเวณภูเขาวังหิน นอกเขตอุทยานฯ อีกแห่ง
นายธนดล กล่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ตรวจสอบผู้ที่ได้รับเอกสาร ส.ป.ก.ทั่วประเทศว่าเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ หรือเป็นนายทุน โดยรื้อทั้งหมดที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบและวัตถุประสงค์ คาดว่ากว่า 2 ล้านไร่ โดยจะนำร่องแห่งแรกที่ อ.ปากช่อง เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจน จากการตรวจสอบพบว่าผู้ได้เอกสาร ส.ป.ก.4-01 เป็นนายทุน เจ้าของโรงแรม รีสอร์ต ถือครองเอกสาร ส.ป.ก.4-01 กว่า 29 แปลง
อ่านข่าว : “สคทช.” ถกทุกหน่วยแก้พิพาทที่ดิน “เขาใหญ่-ส.ป.ก.”
สำหรับการตรวจพื้นที่วันนี้ (16 มี.ค.) ได้เปลี่ยนจากจุดเดิมเป็นจุดใหม่ โดยเป็นพื้นที่โรงแรม รีสอร์ตและบ้านจัดสรร อยู่นอกเขตติดแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเข้าตรวจสอบว่าพื้นที่คาบเกี่ยวอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. และพื้นที่นิคมสร้างตนเองมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนมา เพื่อนำมาประเมินก่อนดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
หากพบว่ากระทำผิดจริงจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยให้เพิกถอนสิ่งปลูกสร้าง แต่หากผู้ประกอบการไม่ยอมเพิกถอนก็จะแจ้งความดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ม.3 (15) ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการค้า ทั้งนี้การลงพื้นที่ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จะเป็นหมุดหมายแรกที่ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดทั่วประเทศ
อ่านข่าว : สั่งปฏิรูปที่ดินโคราช เพิกถอน ส.ป.ก.4-01 ยกเลิกรังวัด 1,279 ไร่
อย่างไรก็ตาม ในส่วนเงื่อนไขในการเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ที่ คปก.ต้องเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด และมีการแก้ไขระเบียบนั้น ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการยกระดับให้สามารถนำโฉนดเพื่อการเกษตร ไปประกันตัวผู้ต้องหาได้ รวมทั้งนำไปเข้าธนาคารเพื่อการเกษตรได้
ส่วนผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 ระบุ ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท ที่มีสัญชาติไทย คือ 1. เกษตรกร เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปีเพื่อประกอบเกษตรกรรมในท้องถิ่นนั้น
2. ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรเป็นหลัก ผู้ยากจน มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี จบการศึกษาทางเกษตรกรรมไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และ 3. สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ผู้ที่ผ่านตามเขื่อนไขก็มีสิทธิ ส่วนนอกเหนือจากนี้ถือว่าผิดวัตถุประสงค์และระเบียบเงื่อนไข ไม่สามารถถือครองและเข้าไปทำประโยชน์พื้นที่ ส.ป.ก.ได้
อ่านข่าวอื่นๆ
"วิกฤตร้อน-แล้ง" ทำราคาพืชผลเกษตรปรับขึ้นเท่าตัว
เอาจริง! เศรษฐาลั่นปีหน้างดนำเข้า "ข้าวโพด" จากเพื่อนบ้าน
จบทริปเชียงใหม่ “ทักษิณ” อุ่นใจได้กลับบ้าน ย้ำดรามาคือเรื่องไม่จริง