ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

One Map คืออะไร มีแล้ว "ใคร" ได้ประโยชน์ ?

สิ่งแวดล้อม
29 ก.พ. 67
16:27
6,262
Logo Thai PBS
One Map คืออะไร มีแล้ว "ใคร" ได้ประโยชน์ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหาที่ดินบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่าง กรมอุทยานฯ กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ว่าแนวเขตดังกล่าวเป็นที่ดินของใคร และใครรับผิดชอบ ขณะที่มีการเสนอให้ใช้ One Map เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

แต่มีคำถามว่า One Map คืออะไร ?

ว่าที่ ร.ต.พีรพล มั่นจิตต์ ผู้อำนวยกองที่ดินของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เขียนไว้ในเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ระบุว่า ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เพื่อนำไปสู่เอกภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ

การปรับปรุงแผนที่ One Map เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตามมาตรา 10 (7) แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 ประกอบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2561 และ วันที่ 24 เม.ย.2562

เป็นโครงการที่เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อหน่วยงานของรัฐและประชาชน 

ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการ One Map คือช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของประชาชนได้ ดังนี้ 

  • ลดปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดินของรัฐแต่ละประเภทลงได้ โดยพบว่าภายหลังการปรับปรุงพื้นที่กลุ่มที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด มีพื้นที่ลดลงจำนวน 1,482,925.45 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 43.94 พื้นที่กลุ่มที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด มีพื้นที่ลดลงจำนวน 16,910,421.03 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 47.15 และพื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด มีพื้นที่ลดลงจำนวน 48,755,909.23 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 54.21

  • การที่โครงการ One Map ยึดกรอบแนวคิด "หนึ่งพื้นที่ หนึ่งหน่วยงานรับผิดชอบ" (One Land One Law) มีผลดี ทำให้การบริหารจัดการที่ดินของรัฐมีเอกภาพ มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้ทราบถึงแนวเขตที่ดินของรัฐ และหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน

  • ส่งผลให้ประเทศไทยมีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ถูกต้อง ทันสมัย อยู่บนพื้นฐานแผนที่มาตราส่วน 1 : 4000 ลดความซ้ำซ้อนในการใช้จ่ายงบประมาณ และบุคลากรในการดูแลรักษา คุ้มครองป้องกันที่ดินของรัฐ

  • เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน หรือจัดที่ดินให้กับประชาชน หรืออนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ สามารถสอบทานข้อมูลได้ง่าย เกิดความสะดวก รวดเร็วในการให้บริการกับประชาชน

  • ประชาชนทราบถึงขอบเขตที่ดินของรัฐที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้สะดวก ส่งผลให้การทำประโยชน์ในที่ดิน หรือการใช้ที่ดินได้เป็นไปอย่างถูกต้องโดยไม่รุกล้ำที่ดินของรัฐ ทำให้มีคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมที่ดีขึ้น

  • ลดปัญหาข้อพิพาท หรือความขัดแย้งเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน หากเกิดการโต้แย้งสิทธิ สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ หรือตามที่ คทช. กำหนด

  • สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่า การดำเนินโครงการ One Map จะไม่มีการลิดรอนสิทธิ หรือกระทบสิทธิของประชาชนที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และยึดหลักการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565

เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบผลการดำเนินการ One Map แล้ว หน่วยงานที่มีที่ดินของรัฐอยู่ในความรับผิดชอบจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ในขั้นตอนดังกล่าว หน่วยงานของรัฐ จะต้องรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้การบริหารจัดการที่ดินของรัฐเกิดความยั่งยืนต่อไป

13 หลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ

  1. ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ กำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามขอบเขตในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มีทั้งหมด 1,221 ป่า ป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. กำหนดเป็นป่าไม้ถาวรโดยมติ ครม. กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ในการนำเสนอ ครม. มีทั้งหมด 1,044 ป่า พิจารณาดังนี้

    1.1 ป่าไม้ถาวรที่ ครม.มีมติกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ตามแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีการประกาศตามกฎหมายเป็นหลัก

    คำอธิบาย กรณีหลักเกณฑ์ที่ 1.1 มีการกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงไว้แล้ว ครม.จึงมีมติกำหนดป่าไม้ถาวรจำนวน 156 ป่า (ตามภาคผนวกหลักเกณฑ์ ที่ 1.1) ให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ตามแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีการประกาศตามกฎหมาย ดังนั้น แนวเขตที่ดินของรัฐ (ONE MAP) คือ แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ

    ภาพประกอบข่าว : เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

    ภาพประกอบข่าว : เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

    ภาพประกอบข่าว : เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

    1.2 ป่าสงวนแห่งชาติที่มีวัตถุประสงค์ประกาศตามแนวเขตป่าไม้ถาวรทั้งแปลงให้ใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีการประกาศตามกฎหมายเป็นหลัก

    คำอธิบาย เป็นกรณีกรมป่าไม้เร่งรัดกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น จึงได้นำป่าไม้ถาวรตามมติ ครม.ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ส่งมอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการสงวนต่อไป กรมป่าไม้จึงได้นำป่าไม้ถาวรตามมติ ครม.ดังกล่าว ไปกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยไม่มีการรังวัด จำนวน 115 ป่า (ตามภาคผนวกหลักเกณฑ์ที่ 1.2) ดังนั้น แนวเขตที่ดินของรัฐ (ONE MAP) คือ แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ

    ภาพประกอบข่าว : เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

    ภาพประกอบข่าว : เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

    ภาพประกอบข่าว : เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

    1.3 ป่าไม้ถาวรตามมติ ครม.และป่าสงวนแห่งชาติที่ไม่มีวัตถุประสงค์ให้ใช้แนวเขตเดียวกัน ให้ใช้แนวเขตตามพื้นที่ป่านั้นๆ

    คำอธิบาย ป่าไม้ถาวรตามมติ ครม.ที่นอกเหนือบัญชี (ตามภาคผนวกหลักเกณฑ์ที่ 1.1 และ 1.2) ทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติที่นอกเหนือบัญชี (ตามภาคผนวกหลักเกณฑ์ที่ 1.1 และ 1.2) ให้ใช้แนวเขตตามพื้นที่ป่านั้นๆ

    แนวเขตที่ดินของรัฐ (ONE MAP) คือ แนวเขตที่โตกว่าระหว่างป่าไม้ถาวรตามมติ ครม.กับป่าสงวนแห่งชาติ
  2. ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

  3. ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรม ป่าไม้นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจน ทับซ้อนเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้ใช้แนวเขตตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

  4. ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทับซ้อนกับป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี

  5. ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.)

  6. อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน

  7. ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทับซ้อนกับนิคมสร้างตนเอง หรือนิคมสหกรณ์

  8. นิคมสร้างตนเอง นิคมสหกรณ์ทับซ้อน เขตปฎิรูปที่ดิน และนิคมสร้างตนเอง นิคมสหกรณ์ที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดพื้นที่

  9. ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทับซ้อนกับที่ราชพัสดุ

  10. ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทับซ้อนกับที่สาธารณประโยชน์ที่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ไว้แล้ว

  11. แนวเขตที่ดินของรัฐที่มีการกำหนดโดยใช้แนวธรรมชาติหรือแนวเขตตามสิ่งก่อสร้าง ให้ใช้แนวธรรมชาติหรือสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏลวดลายในแผนที่ภาพถ่าย ทางอากาศ/ภาพถ่ายดาวเทียมปีที่กำหนดแนวเขต

  12. กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถหาข้อยุติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ ให้สรุปเรื่องราวพร้อมรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อยุติตามลำดับ

  13. ให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดรวบรวมข้อมูลระวางแผนที่ของกรมที่ดินที่มีการรับรอง แนวเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับใช้ในการดำเนินการภายหลัง และ ให้คณะทำงานการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ป่าไม้และเขตปฏิรูปที่ดินระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานที่ได้ข้อยุติจากคณะทำงานฯ ส่งให้คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง