ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยนพิกัด จาก "ทำเนียบ" สู่ "บ้านจันทร์ส่องหล้า"

การเมือง
27 ก.พ. 67
14:58
244
Logo Thai PBS
ศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยนพิกัด จาก "ทำเนียบ" สู่ "บ้านจันทร์ส่องหล้า"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกรัฐมนตรีของไทยมีกี่คน คนเดียวหรือ 2-3 คน ยังเป็นปมคำถามที่คนไทยจำนวนไม่น้อยหยิบยกมาถกกันในสภากาแฟ โดยเฉพาะหลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ เข้าบ้าน “จันทร์ส่องหล้า” พบปะเยี่ยมเยียนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 24 ก.พ.2567

ยังเจอกับคำถามเดิม นายกฯ ของไทยมีกี่คน

ไม่ต่างจาก “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ถอนหายใจยาวปฏิเสธตอบคำถามนี้ หลังถูกรุมถามในวันที่เข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า กินอาหารร่วมกันของคนในครอบครัวชินวัตร ทั้งพ่อแม่ลูก 5 คน

ก่อนหน้านี้ บ้านจันทร์ส่องหล้าได้เปิดต้อนรับคนเยี่ยมไข้ ที่สะท้อนความพิเศษไม่ธรรมดาเหมือนผู้หายป่วย หรือคนออกจากโรงพยาบาลทั่วไป ที่ญาติมิตรเดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจตั้งแต่วันแรกๆ ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ไม่ต้องมีมีฤกษ์พานาที แต่กรณีนายทักษิณกลับต่างออกไป

เพราะคนแรกที่ไปเยี่ยมที่คฤหาสน์หลังนี้ คือสมเด็จฮุนเซ็น อดีตนายกฯ กัมพูชา ที่ยังบารมีและอำนาจในทางการเมืองของกัมพูชาไม่เปลี่ยน แม้จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว

อ่านข่าว : สำรวจเสร็จแล้ว "ส.ป.ก.รุกเขาใหญ่" นายกฯ ชี้ให้เป็นพื้นที่ปลูกป่า

การเป็นแขกคนแรกของบ้านจันทร์ส่องหล้า ถือเป็นนัยสื่อสารถึงบารมี และความสำคัญของนายทักษิณอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งจากคำพูดของคนในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยระบุด้วยว่า จะมีระดับอดีตผู้นำอีกหลายประเทศ เข้าเยี่ยมนายทักษิณ ยิ่งสะท้อนความพิเศษ

ต่อด้วยคนที่ 2 ที่เข้าเยี่ยม คือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน ซึ่งในเชิงการเมือง ยิ่งตอกย้ำบารมี และความสำคัญของนายทักษิณมากยิ่งขึ้น ว่าอยู่ในระดับใด เพราะขนาดนายกฯ ยังต้องนั่งรถประจำตำแหน่ง เดินทางไปเข้าพบถึงบ้าน ทั้งยังออกมาสื่อสารรับประกันอาการป่วยของนายทักษิณ เรื่องหัวไหล่และแขนที่บอกว่าดีขึ้น สามารถเคลื่อนไหวได้ และยังปฏิเสธไม่ได้คุยเรื่องการเมือง ไม่ได้คุยเรื่องปรับ ครม. เพราะไม่เกี่ยวกับนายทักษิณ

เป็นการชี้แจงของคนระดับนายกรัฐมนตรี แต่ในขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือนายทักษิณ ยังเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด แม้จะเข้าสู่การพักโทษ แต่จะพ้นโทษจริงคือเดือน ส.ค.2567

อ่านข่าว : อสส.ตั้งคณะทำงาน กำกับการสอบสวนคดี "ลุงเปี๊ยก"

ส่งผลให้เกิดคำถาม ระหว่างนายใหญ่กับนายกรัฐมนตรี ใครใหญ่และมีบารมีอำนาจวาสนามากกว่ากัน หรือใครต้องเป็นฝ่ายพินอบพิเทาเมื่อพบกันสองต่อสอง

และไปเพิ่มน้ำหนักข้อสงสัยและคำถามว่า ไทยมีนายกรัฐมนตรีกี่คน

ที่น่าจับตาจากนี้ไป คือใครจะเป็นแขกคนต่อไปของบ้านจันทร์ส่องหล้า เยี่ยมนายทักษิณ เพราะหากเป็นไปตามนี้ เชื่อกันว่าต้องมีกฎเกณฑ์และประเภทบุคคล สำหรับการเข้าเยี่ยม อาจเป็นอดีตผู้นำจากต่างประเทศ หรือบุคคลวีไอพีระดับนานาชาติ หรืออาจเป็นรัฐมนตรีใน ครม. ที่อาจอยู่ในลิสต์ และไทม์ไลน์ที่จะถูกออกแบบไว้แล้ว

การให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เท่ากับเป็นการเฉลยคำตอบในทีว่า เหตุใดแกนนำมวลชน หรือมวลชนเสื้อแดงจากกลุ่มหรือจังหวัดต่าง ๆ ยังไม่มีโอกาสเข้าเยี่ยมคนเพิ่งหายป่วยเลย แม้จะมีการนัดหมายตั้งแต่ทราบข่าวจะพ้นโทษ

ขนาดแกนนำในรัฐบาลบางคนเคยพูดก่อนหน้านี้ว่าจะเข้าเยี่ยม ไม่ว่าจะในฐานะนายเก่า หรือหวังโชว์พาวหรือสะท้อนคนวงในที่มีความใกล้ชิด หรือหวังรักษาเก้าอี้ทางการเมืองที่ถูกคาดหมายว่ามีการปรับเปลี่ยนแน่นอนในอีกไม่นานข้างหน้านี้ แต่ยังไม่มีโอกาสเช่นกัน

อ่านข่าว : ก.แรงงานเตรียมปรับค่าแรงรอบ 2 ลุ้นหลายจังหวัดแตะ 400 บาท

ยังไม่นับระดับ สส.หรือแกนนำในพรรค ที่บ้างพูดชื่นชมหรือสวมบทองครักษ์คอยปกป้องในสภาฯก็มี ให้สัมภาษณ์มีบุญคุณที่ให้โอกาสแจ้งเกิดบนเวทีการเมืองก็มี อาจต้องรอคิวก่อนระยะหนึ่ง แม้จะมีข่าวว่า อุ๊งอิ๊งอยากจะพานายทักษิณ ไปพบ สส.ในการประชุมพรรคเพื่อไทยก็ตามที แต่เชื่อว่า ไม่น่าจะเร็ว

สะท้อนให้เห็นว่า ศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา ต้องเป็นทำเนียบรัฐบาล ที่ทำงานของนายกฯและเป็นใจกลางศูนย์รวมอำนาจ ขณะนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นบ้านจันทร์ส่องหล้าแล้ว แม้ภาพภายนอก คงไม่ได้เห็นการแทรกแซงอย่างโจ่งแจ้ง แต่จะเป็นในรูปการเกื้อหนุนการทำงานของรัฐบาลเสียมากกว่า

บ้านจันทร์ส่องหล้า จึงโดดเด่นและเป็นหมุดหมายปลายทางของผู้คนทุกวงการ แทนที่จะเป็นทำเนียบรัฐบาลเหมือนเมื่อก่อน

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง