ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ระบบบริการสาธารณสุข 2 กระทรวง ตอบโจทย์ ปชช.หรือไม่?

ภูมิภาค
24 ก.พ. 67
11:00
799
Logo Thai PBS
ระบบบริการสาธารณสุข 2 กระทรวง ตอบโจทย์ ปชช.หรือไม่?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันที่ 2 ตุลาคม 2565 เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.จากสังกัดเดิมกระทรวงสาธารณสุข ไปยัง อบจ.สังกัด กระทรวงมหาดไทย

          ตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ ปี 2542 ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายสำหรับ อบจ.ที่รับถ่ายโอน เพราะต้องสวมหมวกมาให้บริการด้านสุขภาพประชาชนในระดับปฐมภูมิ

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการถ่ายโอน ปัจจุบันมี รพ.สต.ถ่ายโอนมาสังกัด อบจ.4,275 แห่ง ใน 62 จังหวัด จาก รพ.สต.ทั่วประเทศกว่า 9,000 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 43

“หนองบัวลำภู” เป็น 1 ใน 6 จังหวัดจากทั่วประเทศ ที่รับภารกิจถ่ายโอนเป็นปีแรก หากจะพูดถึงศักยภาพ หนองบัวลำภูเป็นจังหวัดขนาดเล็ก และรายได้ต่อหัวประชากรค่อนข้างต่ำ อบจ.มีรายได้เฉลี่ยปีละ 300 กว่าล้านบาท ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ อบจ.กล้าที่จะรับถ่ายโอน รพ.สต.มากำกับดูแล

          วุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ นายก อบจ.หนองบัวลำภู ระบุว่า ตามกฎหมายกระจายอำนาจ รพ.สต.มายัง อบจ. ก็เริ่มจากการสอบถามความสมัครใจ รพ.สต.ทั้ง 83 แห่งว่าอยากมาไหม? ปรากฏว่ามี รพ.สต.สมัครใจที่ถ่ายโอน 67 แห่ง แต่ความเห็นของคณะกรรมการกระจาย มองเห็นศักยภาพ เนื่องจาก อบจ.หนองบัวลำภู มีกองสาธารณสุขมาแล้วกว่า 10 ปี มีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สป.สช.ให้งบประมาณสนับสนุน และยังมีการแพทย์ฉุกเฉิน จึงตัดสินใจรับถ่ายโอนมา 100%

ดร.วุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ นายก อบจ.หนองบัวลำภู

ดร.วุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ นายก อบจ.หนองบัวลำภู

  • เมื่อถามว่ารับถ่ายโอนมาทั้ง 100% แล้วงบประมาณตามมาด้วยไหม?
    ไม่ เพราะตามที่ตกลงกันไว้ตามขนาด รพ.สต. S M L ที่จะได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เดิมทีจะจัดสรรให้ 1 ล้าน 1.5 ล้าน และ 2 ล้านบาท แต่เอาเข้าจริงๆ จัดสรรงบมาตามขนาด คือ 4 แสน 6.5 แสน และ 1 ล้านบาท พองบมาไม่เต็มก็เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ และกระทบกับบุคลากรที่ถ่ายโอนมาในเบื้องต้น คือ เงินค่าตอบแทน (ฉ.11) ค่าเช่าบ้าน ก็จะได้รับล่าช้าประมาณ 3-4 เดือน

“ระยะแรก อบจ.ได้แก้ปัญหาด้วยนำเงินสะสม 20 กว่าล้านบาทมาจ่ายเป็นค่าตอบแทน เพราะถือว่าบุคลากรที่ถ่ายโอนมา ก็ถือว่าเป็นคนในครอบครัว ซึ่งขณะนี้สำนักงบเริ่มโอนงบประมาณกลับคืนมา แต่ก็ยังไม่ครบ”

ปีที่ 2 ของการถ่ายโอน รพ.สต. นายก อบจ.หนองบัวลำภู วางแนวทางบริหารจัดการด้วยการสร้างระบบให้บริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง Split CUP (Contracting Unit for Primary Care) แทนที่โรงพยาบาลใหญ่เพื่อลดความแออัด โดย สป.สช.จัดสรรงบประมาณรายหัวมาให้โดยตรง เพื่อตอบโจทย์การให้บริการด้านสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่

รัชนี โพทุมทา ผอ.รพ.สต.บ้านหินฮาว อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

รัชนี โพทุมทา ผอ.รพ.สต.บ้านหินฮาว อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู


          รัชนี โพทุมทา ผอ.รพ.สต.บ้านหินฮาว อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ยอมรับว่า การถ่ายโอน รพ.สต.มายัง อบจ.ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับใบประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะการให้บริการแผนกทันตกรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุขไม่สามารถทำหัตถการ เช่น ถอนฟัน อุด หรือขูดหินปูนได้ เพราะไม่มีทันตแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพให้การรับรอง ทำให้ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถให้บริการในแผนกทันตกรรม ทำได้เพียงตรวจคัดกรอง แนะนำเบื้องต้น แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ซึ่งก็กระทบกับคนไข้ เพราะเคสนึงต้องรอคิว 3-4 เดือน


วันที่ 30 ก.ย.65 เจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุข ยังถอนฟันได้ แต่พอมา 2 ต.ค.ที่มีการถ่ายโอนสังกัดมายัง อบจ.กลับไม่สามารถถอนฟันได้ นี่เป็นข้อจำกัดที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการของ รพ.สต.ได้ เนื่องจากไม่มีทันตแพทย์รับรอง

เบื้องต้น อบจ.หนองบัวลำภู แก้ปัญหาด้วยการทำลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลทั้ง 6 แห่งในจังหวัด อนุญาตให้ รพ.สต.ให้บริการด้านทันตกรรมได้ตามปกติ แต่หากเกิดข้อผิดพลาด อบจ.ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา

คงศักดิ์ สวัสดิภาพ ประธาน อสม.จ.หนองบัวลำภู

คงศักดิ์ สวัสดิภาพ ประธาน อสม.จ.หนองบัวลำภู

          เมื่อมาดูมุมมองของผู้ทำงานที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข อย่าง คงศักดิ์ สวัสดิภาพ ประธาน อสม.จ.หนองบัวลำภู ต่างสะท้อนว่า การกระจายอำนาจมันดี ถ่ายมาเป็น 100% ยิ่งดี แต่ว่าค่อยเป็นค่อยไปได้ไหม รพ.สต.ทั่วประเทศมีทั้งหมด 9,000 กว่าแห่ง ถ่ายโอนมาสัก 10-20% ได้ไหม แล้วค่อยมาเก็บข้อมูลว่า ระหว่างถ่ายโอน มันเกิดปัญหา หรือมีช่องว่างอะไรบ้าง หรือจะมีโอกาสพัฒนาไปในทิศทางใด “รู้เขา รู้เรา” มันจะทำให้การถ่ายโอนบริหารจัดการได้คล่องต่อมากกว่านี้ เพียงแต่ว่าตอนนี้ อบจ.ยังไม่มีบทเรียนในการทำงานด้านการให้บริการสุขภาพมาก่อน

นพ.วุฒิไกร ศักดิ์สุรกานต์

นพ.วุฒิไกร ศักดิ์สุรกานต์

นพ.วุฒิไกร ศักดิ์สุรกานต์

          นพ.วุฒิไกร ศักดิ์สุรกานต์ อดีตนายแพทย์สาธารณสุข จ.หนองบัวลำภู และที่ปรึกษา สปสช. เขต 8 อุดรธานี กับมุมมองการถ่ายโอน รพ.สต.มายัง อบจ.ในความรู้สึกยอมรับว่า อดเป็นห่วงไม่ได้ ถามว่า รพ.สต.เก่งไหม? เก่ง!! เพราะทุกคนมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ ทำงานกับประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว สามารถที่จะสะท้อนไปยังผู้บังคับบัญชาได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจากสังกัดเดิม ที่อยู่ภายใต้ระบบราชการ กว่าจะสะท้อนไปยังระดับบนและสั่งการลงมา ทำให้การแก้ปัญหาค่อนข้างล่าช้า

“การที่ รพ.สต.ถูกถ่ายโอนไป โดยอ้างว่า อบจ.มีความพร้อม แต่ความพร้อมว่าในด้านใดกันแน่ เป็นความพร้อมเรื่องการเงิน? แต่เมื่อถามว่า ความพร้อมในการกำกับทิศทางด้านการให้บริการสาธารณสุข ผมมองว่า ยังไม่เห็นจังหวัดไหนมีโครงสร้างที่จะมาทดแทนระบบเดิม ซึ่งเดิมที รพ.สต.ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีหน่วยงานมากำกับการทั้งด้านวิชาการ การบริหาร การกำหนดเป้าหมายประจำปีเพื่อให้การทำงานมันชัดเจน”

          นพ.วุฒิไกร สรุปว่า เอาแต่ รพ.สต.ไป ไม่ดี! แต่ควรจะเอาระบบการกำกับ ระบบวิชาการที่สนับสนุนการทำงานของ รพ.สต.ไปด้วย นั่นหมายความ การเลียนแบบเอาโครงสร้างของสาธารณสุขจังหวัดไป ซึ่งมี 11 กลุ่มงาน เช่นกลุ่มงานแม่และเด็ก ผู้สูงอายุ อาหารและยา โดยให้ สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ซึ่งจะทำให้การทำงานของ รพ.สต.มีเป้าหมายที่ชัดเจน

มีอีกข้อเสนอที่น่าสนใจจาก นพ.วุฒิไกร ระบุว่า ที่การจัดสรรงบประมาณภายใต้ระบบการให้บริการสาธารณสุขจะต้องเป็น “Global Budget” คือ สป.สช.โอนงบประมาณรายหัวไปใน อบจ.ทั้งหมด ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ถ้า รพ.สต.ดูแลคนไข้ไม่ดี เกิดโรคระบาดและต้องนอนโรงพยาบาล อบจ.ก็ต้องโอนเงินค่ารักษาไปให้โรงพยาบาล ซึ่งอันนี้ย้อนกลับเข้ามาระบบเดิม คือ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ข้อเสนอนี้ก็อาจจะยากนิดหนึ่ง กว่าที่จะฝ่าด่านของโรงพยาบาล

ผศ.สุนีย์ ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

ผศ.สุนีย์ ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

          ผศ.สุนีย์ ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า มองว่า การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.สู่ อบจ.ไม่ควรถอย ควรเดินหน้าตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ แต่ปัญหาและอุปสรรคในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการให้บริการด้านสุขภาพที่มันยังสังกัดภายใต้ 2 กระทรวง คือ มหาดไทย และสาธารณสุข

“รัฐบาลใน 2-3 กระทรวงต้องคุยกัน เพราะประชาชนกำลังถูกจับเป็นตัวประกันว่ามันจะไปรอดหรือไม่รอด รัฐบาลต้องเร่งหารือ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณปี 2568 เพราะมันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน”
รศ.สถาพร เริงธรรม สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส

รศ.สถาพร เริงธรรม สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส

          รศ.สถาพร เริงธรรม สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส ระบุว่า การถ่ายโอน รพ.สต.เกิดขึ้นในช่วงปลายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล ก็เปลี่ยนเจ้ากระทรวง ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการถ่ายโอน รพ.สต.เพราะไม่มีความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย 1 รพ.สต.ยังสังกัด 2 กระทรวง การบริหารงานระบบสุขภาพจึงเป็นการประสานงานข้ามกระทรวง

“การทำเอ็มโอยูร่วมกันระหว่าง อบจ.และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาเรื่องใบประกอบวิชาชีพ มันไม่ใช่กฎหมาย ถ้าเกิดผิดพลาดก็ตัวใครตัวมัน ฉะนั้น พรรคร่วมรัฐบาลควรเร่งพูดคุยตอบโจทย์การให้บริการด้านสุขภาพประชาชน และฝ่ายค้านต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตั้งกระทู้ถามสดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจมายังท้องถิ่น”
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

ตามเป้าหมายปี 2568 รพ.สต.ทั้งหมดจะต้องถ่ายโอนไปสังกัด อบจ.แบบ 100% แต่ว่าล่าสุด นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาเปิดเผยว่า การถ่ายโอน รพ.สต.ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ หน่วยรับมีความพร้อม กระทรวงสาธารณไม่มีปัญหา เพราะการกระจายอำนาจถือเป็นเรื่องสำคัญ และมีกฎหมายมารองรับ สิ่งที่ต้องคำร่วมกันคือ “ใช้พื้นที่เป็นฐาน ใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ใครจะมากำกับดูแลไม่มีปัญหา ถ้าทำแบบนี้ได้ จะทำให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปตามพื้นฐานของความพร้อม และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

“กว่า 1 ปีของการถ่ายโอน ผมตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีความลักลั่น มีความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น พยาบาลที่เคยทำงานอยู่โรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือโรงพยาบาลชุมชน แต่มีความประสงค์จะมาทำงานกับ รพ.สต.ก็ไปเหมาเข่งว่าเป็นการถ่ายโอน แต่จริงๆ แล้วเรียกว่าเป็นการโอนย้าย”

          ล่าสุด (14 ก.พ.67) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สป.สช.และสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย และ 8 สภาวิชาชีพ ประชุมเพื่อหาแนวทางการประสานความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการถ่ายโอนสถานีอนามัยและ รพ.สต.ไปยัง อบจ.ให้ดำเนินการอย่างราบรื่น ภายใต้จุดหมายเดียวกัน คือ “สุขภาพที่ดีของประชาชน” ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ปี

เบื้องต้น มีการจัดตั้งคณะทำงานในแต่และด้านเพื่อทำแผนกระจายอำนาจระยะที่ 3 ทบทวนคู่มือแนวทางการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยัง อบจ.เพื่อให้เป็นระบบ ปฏิบัติของบุคลากร และกำหนดแนวทางที่ชัดเจน กรณีบุคลากรที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ยังไม่โอนย้าย) แต่ถูกยืมตัวไปช่วยราชการที่ รพ.สต. เมื่อครบ 1 ปี อบจ.จะต้องกำหนดกรอบอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพ หรือด้านอื่นๆ ที่ยังขาด เพื่อคืนบุคลากรให้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดกรอบให้คณะทำงานกำหนดแผนงานให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง