แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ในทางปฏิบัติ สมเด็จฮุนเซน ประธานองคมนตรีกัมพูชา และบิดาของ ฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา คนปัจจุบัน ยังมีอำนาจบารมีสูงสุดในกัมพูชา ขณะที่นายทักษิณ ที่เพิ่งเข้าเกณฑ์พักโทษออกจากโรงพยาบาลตำรวจ หลังนอนรักษาตัวนานถึง 180 วัน ถูกมองว่า มีทั้งอำนาจและบารมีในไทยไม่ต่างกัน
การพบกันของทั้งคู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า จึงเป็นเรื่องคน 2 คนที่เป็นเพื่อนรัก และเป็นมิตรแท้ที่ไม่เคยจางหายไป ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองของทั้ง 2 ประเทศจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้ง
สมัยนายทักษิณเป็นนายกฯ รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนด้านการพัฒนา และการลงทุนของรัฐบาลสมเด็จฮุนเซน หลายโครงการ ภายใต้ความสัมพันธ์แนบแน่น เห็นอกเห็นใจกัน แม้ในอีกด้านหนึ่ง อาจถูกตั้งข้อสังเกตุเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันในบางครั้งก็ตาม แต่สัมพันธภาพของทั้งคู่มั่นคงเสมอมา
ไม่ว่าจะช่วงปลายปี 2552 นายทักษิณซึ่งพ้นจากอำนาจหลังการรัฐประหารปี 2549 ยังคงได้รับเกียรติจากสมเด็จฮุนเซนแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา
แม้รัฐบาลไทยภายใต้นายกรัฐมนตรีขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยื่นหนังสือต่อรัฐบาลกัมพูชา ให้ส่งตัวนายทักษิณกลับไทย ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ไม่รวมถึงกรณีนักโทษทางการเมือง
สมเด็จฮุนเซน ยังเคยอนุญาตให้นายทักษิณ จัดกิจกรรมเล่นสงกรานต์กับมวลชนคนเสื้อแดงจากประเทศไทย เมื่อเทศกาลสงกรานต์ ปี 2555 โดยมีแกนนำ นปช. มวลชนเสื้อแดง รวมทั้งรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น อย่างนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ไปร่วมกิจกรรมด้วย
ทั้งยังกันร้องเพลงสรรเสริญสดุดีบนเวทีคอนเสิร์ตให้สมเด็จฮุนเซน โดยประพันธ์คำร้อง ทำนองและขับร้องโดยนายวิสา คัญทัพ นักคิด นักเขียน และนักแต่งเพลงชื่อดัง
อีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นความผูกพันขั้นสูงสุดก็ว่าได้ ในงานวันคล้ายวันเกิดของสมเด็จฮุนเซน เมื่อ 5 สิงหาคม 2566 ก่อนนายทักษิณจะเดินทางกลับประเทศไทยไม่กี่วัน เขาและน้องสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ อีกคน เดินทางไปร่วมในงานฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 71 ปี เป็นแขกภายนอกเพียง 2 คน ที่ไม่ใช่คนในครอบครัวของสมเด็จฮุนเซน ที่จัดเป็นการภายใน
สมเด็จฮุนเซน เดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2567
หรือแม้แต่กรณีพิพาทเขาพระวิหาร ที่รัฐบาลกัมพูชา นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลโลกถึง 2 ครั้ง กรณีการสร้างวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ หรือวัดแก้วสิกขาคีรีศวร ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารของไทย เมื่อปี 2541
รวมทั้งการสร้างชุมชนของฝั่งกัมพูชา เพื่อเป็นทั้งแนวเขตแดน และเป็นจุดที่ตั้งปืนใหญ่สำหรับคอยยิงใส่ฝ่ายทหารไทยเมื่อมีการปะทะกัน นายทักษิณ ที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่นาน ก็ตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์ว่า ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านหรือมีข้อเสนอกดดันให้ทางกัมพูชาย้ายออกไป กระทั่งกลายเป็นชุมชนถาวรในเวลาต่อมา
ก่อนการเดินทางไปเยี่ยมนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สมเด็จฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีและทายาทสมเด็จฮุนเซน เดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาล เมื่อ 7 ก.พ.2567 ได้พบและเจรจากับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย พร้อมลงนาม MOU 5 ฉบับ เน้นความร่วมมือการค้า-ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติระหว่าง 2 ประเทศ และมีหลายประเด็นที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ อาทิ การเปิดเขาพระวิหารจากฝั่งไทยที่ปัจจุบันปิดตาย
การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ที่ยังคาราคาซังไม่ต่างจากเขตแดนทางบก แม้เรื่องเขตแดนทางทะเลอาจยังยืดเยื้อต่อไป แต่มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่เรื่องก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเล ที่จะถูกนำขึ้นมาพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ ย่อมมีแนวโน้มมากขึ้น ยังไม่นับเรื่องควันไฟป่า พีเอ็ม 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศของทั้ง 2 ประเทศ
รวมทั้งด่านการค้าถาวรแห่งใหม่บ้านหนองเอี่ยน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่ต้องหยุดชะงักตั้งแต่สถานการณ์ โควิด-19 แพร่ระบาด กระทั่งการสร้างสะพานและถนนเชื่อมต่อกัน 2 ประเทศ รวมทั้งอาคารด่านศุลกากรค้าขายสินค้า แบ่งเบาความหนาแน่นที่ด่านบ้านคลองลึกที่ห่างออกไปไม่ไกล ต้องกลายเป็นโครงการร้างจนกระทั่งถึงขณะนี้ คงเป็นจังหวะเวลาที่ดีสำหรับการรื้อฟื้นใหม่ของทั้ง 2 ประเทศ
ที่สำคัญ คือการรื้อฟื้นสัมพันธ์และใจประสานใจอย่างมั่นคงของคนใหญ่ 2 ประเทศ ที่จะช่วยผลักดันความสัมพันธ์และการเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ของทั้ง 2 ประเทศ ได้ขยับเดินหน้าไปได้ ผลพวงการเจอกันของสมเด็จฮุนเซน กับนายทักษิณ
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา
อ่านข่าว : “ฮุนเซน” กลับกัมพูชา หลังเยี่ยม "ทักษิณ" กินมื้อเที่ยงบ้านจันทร์ส่องหล้า
สหายรักทักษิณ "สมเด็จฮุน เซน" อดีตผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จกัมพูชา