ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพทย์ฝึกหัด "เกาหลีใต้" แห่ลาออก ค้านแผนเพิ่มโควตา นศ.แพทย์

ต่างประเทศ
21 ก.พ. 67
13:07
2,130
Logo Thai PBS
แพทย์ฝึกหัด "เกาหลีใต้" แห่ลาออก ค้านแผนเพิ่มโควตา นศ.แพทย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แพทย์ฝึกหัดในเกาหลีใต้ครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศยื่นจดหมายลาออก ประท้วงแผนเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์ของรัฐบาล ขณะที่สมาคมแพทย์เกาหลีมองว่าความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลไม่ตรงจุดและอาจนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ

รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามผลักดันการเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์มานานหลายสิบปี แต่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนทำได้สำเร็จ หากประเมินจากจุดยืนของ ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ยอมถอย แม้เผชิญเสียงคัดค้านจากกลุ่มแพทย์

ผู้นำเกาหลีใต้ประกาศชัดระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า แผนของรัฐบาลไม่สามารถรอได้อีกต่อไป เพราะประชาชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ ควรที่จะต้องเข้าถึงบริการสาธารณสุขใกล้บ้านได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งย้ำว่าข้อโต้แย้งของกลุ่มที่คัดค้านแผนเพิ่มนักศึกษาแพทย์ที่มองว่าจะทำให้คุณภาพการศึกษาลดต่ำลง เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

ปัจจุบัน โควตารับนักศึกษาแพทย์เข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์กว่า 40 แห่งทั่วประเทศ อยู่ที่ปีละประมาณ 3,000 คนเศษๆ แต่รัฐบาลเสนอให้รับเพิ่ม 2,000 คนเป็น 5,000 คน ภายในปีการศึกษาหน้า และจะเพิ่มอีก 10,000 คนภายในปี 2035

รัฐบาลมองว่า ตัวเลขนี้สอดรับกับสถานการณ์สังคมสูงวัยของเกาหลีใต้ ที่มีอัตราการเกิดต่ำสวนทางกับตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยหากทำได้จริงจะถือเป็นการเพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2006

ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

"เกาหลีใต้" ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลกผ่านหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ในราคาย่อมเยา โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของเกาหลีใต้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 ของ GDP

ขณะที่มีแพทย์ทั้งประเทศประมาณ 140,000 คน แต่ส่วนใหญ่จะไปกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ทำให้พื้นที่แถบชนบทขาดแคลนแพทย์ และที่สำคัญคือการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางในบางสาขาที่จำเป็น แต่ไม่ทำเงิน โดยเฉพาะสูติศาสตร์และกุมารเวชศาสตร์

ส่วนในมุมของฝ่ายที่คัดค้าน โดยเฉพาะสมาคมแพทย์เกาหลี มองว่า แผนของรัฐบาลแก้ไม่ตรงจุด เพราะจริงๆ แล้วมีแพทย์เพียงพอ แต่ขาดแรงจูงใจในการไปทำงานตามชนบท รวมทั้งยังเสนอให้รัฐบาลขึ้นเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับแพทย์เฉพาะทางบางสาขา และให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายหากแพทย์ถูกฟ้อง

ขณะที่แพทย์จำนวนหนึ่ง มองว่า การเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่มากจนเกินไปและดำเนินการอย่างรวดเร็วเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ และเพิ่มภาระทางการเงินในหลายด้าน

ล่าสุด มีแพทย์ฝึกหัดยื่นจดหมายลาออกเพื่อประท้วงแผนของรัฐบาลแล้วมากกว่า 8,800 คน ในโรงพยาบาลกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็นมากกว่า 70% ของแพทย์ฝึกหัดทั้งประเทศ 13,000 คน เบื้องต้นทางการได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนแล้ว 58 ฉบับในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีรายงานเกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของแพทย์ในกลุ่มอื่นๆ ด้วย

แพทย์ฝึกหัดเข้าร่วมการประชุมฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 หลังจากมีแพทย์ฝึกหัดหลายร้อยคนหยุดงานประท้วงแผนเพิ่มโควตา นศ.แพทย์

แพทย์ฝึกหัดเข้าร่วมการประชุมฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 หลังจากมีแพทย์ฝึกหัดหลายร้อยคนหยุดงานประท้วงแผนเพิ่มโควตา นศ.แพทย์

แพทย์ฝึกหัดเข้าร่วมการประชุมฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 หลังจากมีแพทย์ฝึกหัดหลายร้อยคนหยุดงานประท้วงแผนเพิ่มโควตา นศ.แพทย์

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่ง 5 ประเทศนี้มีสัดส่วนแพทย์สูงที่สุด โดยออสเตรียและนอร์เวย์ มีแพทย์มากกว่า 5 คนต่อประชากร 1,000 คน ตามมาด้วยเยอรมนี สเปนและลิทัวเนีย เท่ากันที่ 4.5 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของ OECD อยู่ที่ 3.7

แต่เกาหลีใต้รั้งท้ายตาราง มีสัดส่วนแพทย์สูงกว่าตุรกีและเม็กซิโกเท่านั้น จุดนี้ตอกย้ำถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในสถานการณ์ที่ความต้องการแพทย์ในเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อดูแลประชากรสูงวัย ซึ่งจะเพิ่มขึ้นแตะ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เปิดรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

"แพทย์" ถือเป็นอาชีพทำเงินในหลายประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ซึ่งแพทย์มีรายได้สูงติดอันดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 255 ล้านวอน หรือเกือบ 7,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของชาวเกาหลีใต้มากกว่า 5 เท่า ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ปีละ 46.6 ล้านวอน หรือไม่ถึง 1,300,000 บาท

ดังนั้น บางคนจึงออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การคัดค้านแผนเพิ่มนักศึกษาแพทย์อาจเกิดจากความกังวลว่า ถ้ามีแพทย์เพิ่มขึ้นก็จะทำให้การแข่งขันสูงขึ้น แต่รายได้ลดลง โดยโรงพยาบาลในเกาหลีใต้มากกว่าร้อยละ 90 เป็นโรงพยาบาลเอกชน สวนทางกับหลายประเทศที่มีโรงพยาบาลรัฐจำนวนมาก ทำให้การมีแพทย์เพิ่มขึ้นเท่ากับมีคนช่วยแบ่งเบาภาระงานเพิ่มมากขึ้น

แม้ว่าข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแพทย์ในอดีต ฝ่ายที่ยอมถอยก่อนมักจะเป็นภาครัฐ แต่รอบนี้คงต้องจับตา เพราะผลสำรวจความเห็นชาวเกาหลีใต้ 3 ใน 4 สนับสนุนแผนของรัฐบาล

อ่านข่าวอื่นๆ

สหายรักทักษิณ "สมเด็จฮุน เซน" อดีตผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จกัมพูชา

เร่งช่วยชีวิต 1,500 สุนัขจรหลังรัสเซียเคาะ กม.การุณยฆาต

วิกฤต "ราฟาห์" ผุู้พลัดถิ่นนับแสนเผชิญสภาวะขาดแคลนอาหาร-โรคระบาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง