ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"อุทัย พิมพ์ใจชน" ส่องเกมอำนาจ อ่านการเมืองไทย

การเมือง
20 ก.พ. 67
12:25
668
Logo Thai PBS
"อุทัย พิมพ์ใจชน" ส่องเกมอำนาจ อ่านการเมืองไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"คุยนอกกรอบ" ย้อนรอยประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญการเมืองไทย ถอดบทเรียนจากอดีตและวิเคราะห์การเมืองแบบเก่ากับการเมืองของคนรุ่นใหม่ จาก "อุทัย พิมพ์ใจชน" อดีตประธานรัฐสภา กับ "สุทธิชัย หยุ่น" ผู้ดำเนินรายการ

ต้องใช้คำว่า "เก๋า" ไม่ใช่เก่า สำหรับคนที่ดังที่สุดคนนึงในยุคสมัยก่อน คนที่กล้าที่จะฟ้องคณะปฏิวัติ จนกระทั่งติดคุก ที่ทุกวันนี้เมื่อเราพูดถึงเรื่องการเมือง คนที่จะกล้าออกมาต่อต้านการปฏิวัตินั้นมีน้อยรายมาก คนที่ทำให้นักข่าวการเมืองรุ่นนั้นหรือแม้กระทั่งการเมืองทุกวันนี้ยังพูดถึงอยู่ "อุทัย พิมพ์ใจชน" 

จุดเปลี่ยนผมไม่มีหรอก ผมมีแต่จุดเริ่มต้นกับจุดหยุด

อดีตประธานรัฐสภาบอกกับผู้ดำเนินรายการ เมื่อถูกขอให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เข้าสู่เส้นทางการเมือง ที่เริ่มจากสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นายอุทัยเองก็เคยเข้าร่วมขบวนขับไล่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะนายสมหวัง ศรีชัย ประธานนักศึกษาธรรมศาสตร์ พานักศึกษาไปเดินขบวนทวงถามว่า "ทำไมเลือกตั้งสกปรก" 

และคำตอบที่จอมพล ป. ตอบ แล้วทำให้นักศึกษาพอใจจนกลับคือ ลาออกมันง่าย แต่ลาออกแล้วเป็นผลไหม ? คุณจะให้ผมลาออกตรงนี้ วันนี้มันไม่มีผล ผู้แทนจะลาออกต้องลาออกที่สภา "รอเปิดสภาก่อน ใจเย็นๆ" แต่จากนั้นไม่นานก็เกิดการปฏิวัติ จอมพล ป. ขึ้น 

จากเรื่องมดเอ็กซ์เป็นเรื่องจริงจัง

นับจากเหตุการณ์นั้น นายอุทัยถือว่าตัวเองก้าวเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองอย่างเข้มข้น เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เริ่มศึกษาว่านายกรัฐมนตรีต้องทำอะไร มีหน้าที่ยังไงบ้าง 

นายอุทัยเล่าว่า สมัยเป็นนักศึกษาปี 4 ข้อสอบวิชารัฐธรรมนูญที่ ดร.หยุด แสงอุทัย เป็นผู้สอน สงสัยว่าข้อสอบจะรั่ว เพราะเพื่อนมากระซิบว่าข้อสอบจะออกมาตรา 17 ที่ในตอนนั้น ครม.มีมติประชุมมาตรานี้ว่า "ยิงเป้าก็ได้ อำนาจเบ็ดเสร็จ" พอเข้าห้องสอบจริงๆ มาตรา 17 ก็ออกมาจริงๆ เลยเลือกที่จะไม่ตอบ ยอมตกวิชานี้ จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ว่าคิดอย่างนั้นได้ยังไง

อุดมการณ์ล้นเกินไปหรือเปล่า?

กระโดดข้ามช่วงเวลามาถึงตอนที่ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร ปฏิวัติ ซึ่งบทบาทของนายอุทัยในตอนนั้น เป็น สส.แล้ว และตัดสินใจฟ้องคณะปฏิวัติ

นายอุทัยบอกกับสุทธิชัยว่า ตอนนั้นพอเราอยู่ในวงการการเมือง เราพอรู้แล้วว่า รัฐบาลมีปัญหากันเอง 2 อย่าง คือ

  1. เวลาไปประชุมสภา ผู้แทนฝ่ายค้านก็อัดน่วมเลย เพราะปกครองแบบเผด็จการมาหลายปี จุดบอด ช่องโหว่มันก็เยอะ เอากำปั้นทุบตรงไหนมันก็โดนหมด มันก็เจ็บปวดกับฝ่ายค้าน รัฐบาลก็ไม่อยากเข้าประชุม
  2. เวลาประชุมพรรค ผู้แทนในพรรคก็อัดเอาอีก คือว่าพรรคเดียวกันเองมีอะไรก็ว่ากันได้
คนเป็นนายกฯ ก็ปวดหัว ไปสภาก็ปวดหัวกับฝ่ายค้าน มาประชุมพรรคก็ปวดหัวกับพวกเดียวกันเอง

แต่สุดท้ายที่รู้คือ ครม. ทะเลาะกันเอง ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ "ถนัด คอมันตร์" กับ รัฐมนตรีอีกคน จอมพลประภาสทนไม่ไหวเลยทุบโต๊ะ บอกจอมพลถนอมว่า "ผมจัดการเอง" อันนี้มีคนเล่านะ แล้วคืนนั้นก็ปฏิวัติเลย เขาบอกว่า

บ้านเมืองอยู่ในภาวะโจรปล้น ผู้ร้ายชุกชุม เศรษฐกิจทรุดโทรม คอมมิวนิสต์คุกคาม นักการเมืองแตกแยก จำเป็นคณะต้องยึดอำนาจ ผมก็ดูแล้ว 3 เดือนก็ไม่มีอะไร แสดงว่าเอาปัญหาของตัวเองมายึดอำนาจ

นายอุทัยยังบอกต่อว่า ผมชอบพูดกับตัวเอง เราเป็นผู้แทนราษฎร เมื่อราษฎรถูกยึดอำนาจแล้วเราจะช่วยราษฎรยังไง จะไม่ช่วยเขาหรอ แล้วตอนไปหาเสียง ที่ไปยืนปาวๆ ว่า พี่น้องเดือดร้อนอะไร ผมยินดีจะสละชีวิตเพื่อต่อสู้เพื่อพี่น้อง ตรงไหนที่ว่าต่อสู้ ถามตัวเอง แล้วเลือกตั้งครั้งหน้าจะไปบอกกับชาวบ้านว่ายังไง ผมต่อสู้เพื่อพี่น้องยังไงบ้าง

คิดว่าต้องทำอะไรกับพวกปฏิวัติ ก็มีทางเดียวคือ "ต้องฟ้อง" ก็ต้องหาพวก ชวนคนแรกไม่เอา ชวนคนที่สองก็ไม่เอา ก็คุยกับเพื่อนสนิทคือ "บุญเกิด หิรัญคำ" ตอนทำงานเป็นฝ่ายค้านเขาก็ให้ความร่วมมือกับผมดี แล้วก็ได้คุณ "อนันต์ ภักดิ์ประไพ" มาอีกคน รวมตัวเองก็ได้ 3 คนแล้ว พอแล้วฟ้องเลย

ฟ้องกบฏคณะปฏิวัติ

เราไม่ต้องใช้อะไรมาก ปากกาด้ามเดียว กระดาษแผ่นหนึ่ง เพราะกฎหมายกบฏ มาตรา130, 133 ตอนนั้นยังอยู่ ยังไม่ได้ยกเลิก เขียนฟ้องเสร็จตอน 02.00 น. ก็ชวนเพื่อน 2 คนไปไหว้พระบรมรูปทรงม้า อธิษฐานจิตว่า จะฟ้องคณะปฏิวัติ โดยใช้คำว่าข้าพระพุทธเจ้า ได้ทำการครั้งนี้ ไม่ได้หวังมักใหญ่ใฝ่สูง หวังเพียงว่ายอมไม่ได้ที่จะให้คนด้วยกัน เอาประชาชนลงไปเป็นทาส

พระองค์เคยเป็นเจ้าของทาสทั้งประเทศ พระองค์ยังยอมปล่อย
แล้วพวกนี้ไม่เคยมีทาส กลับเอาประชาชนเป็นทาส

แล้วเราก็กอดกัน 3 คน ตอนอธิษฐานไม่รู้ว่าเพื่อนขออะไร แต่ก็บอกกับทั้ง 2 คนว่า ถ้าเขาเอาพวกเราไปยิงเป้า คุณอย่าคิดอะไรนะ คิดเกิดใหม่อย่างเดียว นอกจากนี้ นายอุทัยก็มีเพื่อนที่ศรัทธาตนเองอยู่อีกคน ก็ไปฝากคำฟ้องให้เขาเอากลับบ้านที่สวน เพราะกังวลหากเอาไว้กับตัวเดี๋ยวสันติบาลจะถูกค้นเจอ

บอกพรุ่งนี้ไปศาลแต่เช้า ไปนั่งกินกาแฟ แต่อย่าเอาคำฟ้องไว้ที่โต๊ะ ให้เอาไว้อีกโต๊ะหนึ่ง เดี๋ยวลงจากรถแล้วค่อยหยิบคำฟ้องแล้วขึ้นไปบนศาลเลย เพื่อไม่ให้สันติบาลล็อกตัว เพราะเราก็ไม่รู้ว่าข่าวเราจะรั่วหรือเปล่า ฟ้องเสร็จตอนเช้า ตอนบ่ายหน่อยตำรวจมาเชิญตัว

ตอนนั้นข่าวออกใหญ่โต หนังสือพิมพ์ลงข่าวกันเต็มที่ แต่ทีวีไม่กล้าออกข่าว เพราะว่าทีวีกับวิทยุรัฐบาลคุมหมดตอนนั้น หนังสือพิมพ์ยังพอมีอิสระบ้าง ถ้ากลับไปดูพาดหัวก็ยังจะมี รูป 3 คนพาดหัว นำโดยอุทัยนี่แหละ

พอตำรวจมาเชิญไป ผู้ฟ้องคณะปฏิวัติก็บอกกับตำรวจว่า ไม่ใช่ตำรวจสัญญาบัตร ถ้าคุณเชิญผม ผมเป็นอะไรไป คุณต้องรับผิดชอบนะ เขาก็เชิญผมไปคุยนู้นคุยนี่ จนกระทั่ง 3 โมงเย็น ผมต้องขอตัวจะไปฟังคำสั่งศาล ว่าเขาจะรับฟ้องไหม ก็กะว่าถ้าศาลรับฟ้องก็จะยื่นคำร้องห้ามประกัน เพราะผู้ต้องหามีอิทธิพล

ที่ไหนได้ ตำรวจบอกยังกลับไม่ได้ครับ ผมได้รับบัญชาจากหัวหน้าปฏิวัติให้คุมตัวท่านไว้ก่อน

ไม่ได้ไปศาล ถูกสั่งจำคุก 10 ปี

นายอุทัยถามกลับไปยังผู้กำกับ บอกว่าคุณเป็นนายตำรวจใหญ่ อยู่ๆ เอาคำสั่งคณะปฏิวัติมาจับคน มันมีไหมในกฎหมายอาญา ในเมื่อมันไม่มีแล้วเอาอะไรมาใช้ จะมาใช้คำนี้ (รับบัญชาจากหัวหน้าปฏิวัติ) จับผมไม่ได้นะ เราเป็นทนายความ ถ้าคุณมีข้อหาผมยอมคุณได้ แต่จะบอกไว้อย่างนะ ว่าบ้านเมืองที่สงบร่มเย็นเขามีอยู่คำหนึ่ง ที่เรียกว่า

บ้านนี้เมืองนี้มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดี หมายถึง ผู้ใหญ่คือคนที่มีอำนาจอย่างคณะปฏิวัติ แต่ผู้หลักคือข้าราชการประจำที่มีกฎหมายยึดถืออยู่

ผู้ใหญ่จะเป๋ยังไงก็ช่าง แต่ผู้หลักต้องเป็นหลักไว้ บ้านเมืองถึงจะอยู่ได้ แต่คุณ (ตำรวจ) ไปเป๋ตามผู้ใหญ่ มันใช้ไม่ได้ แต่สุดท้ายตำรวจก็ไม่ยอมให้ไปศาล ต้องนั่งอยู่ต่อจนตี 2 จากนั้นนายอุทัยก็ถูกพานั่งรถกองปราบ ข้างหลังรถมีตำรวจเอาปืนกลใส่รถปิกอัปเอาผ้าใบคลุมตามหลังมา อดีตมีเอานักการเมืองไปฆ่าทิ้งที่บางเขน หรือเขาอาจจะมีคำสั่งคณะปฏิวัติมาแล้วก็ได้ให้เอาเราไปยิงเป้า ใครจะไปรู้

ไปถึงก็เอาผมไปขัง ขังที่ไหนผมก็ไม่รู้ มันมืด ตอนเขาล็อกกุญแจ เสียงล็อกมันเสียดเข้าไปในขั้วหัวใจ ไม่เข้าหูนะเข้าหัวใจ รู้ไหมผมคิดถึงอะไร คิดถึงพ่อกับแม่ เสียดายว่ายังไม่ได้ทำอะไรให้พ่อกับแม่เลย ต้องมาตายซะแล้ว ทั้ง 3 คน ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน แยกกันเลย ตนเองเอามือคลำๆ เจออ่างน้ำ คลำเจอก๊อกน้ำแต่น้ำไม่ไหล มีแต่ฝุ่น พอง่วงก็เอาเสื้อนอกพันเป็นหมอนนอน นอนทั้งฝุ่นนั่นแหละ จนประมาณตี 4 ก็มีคนมาไขกุญแจห้องเอาไปขังไว้ที่บางซื่อ มีอีกคนโดนขังอยู่ห้องนั้นด้วย พอถามว่าโดนข้อหาอะไร เขาบอกลักทรัพย์ แต่จริงๆ เขาเอามาคุมเราอีกทีปลอมตัวมา เรารู้ อยู่ที่นั่นหลายเดือนนะ จนกระทั่งมีคำสั่ง ให้จำคุก 10ปี แล้วถึงเอาไปไว้ที่บางขวาง

ทั้งหมดอยู่ในคุกตั้งแต่วันที่ถูกจับจนถึงวันปล่อยตัว ก็ 1 ปี กับ 8 เดือน หรือ 1 ปี กับ 10 เดือน ประมาณนั้น จำได้ว่า 2 ปี หย่อน 2 เดือน ในปี 2515-2517

เป็นประธานสภาฯ - รัฐมนตรี จากการชักชวน

ที่เป็นประธานรัฐสภา ไม่เคยคิดอยากเป็น ตอนที่มีเสียงข้างมากในสภา 114 เสียง อ.เสรี ก็จูงมือผมบอก อุทัย มาช่วยเป็นให้หน่อย เพราะว่า 2 คนนี้เขาเกรงใจอุทัยอยู่ มันจะได้จบๆไป อยากรู้ไหมทำไม อ.เสรี พูดคำนี้ เพราะผมเป็นกรรมการบริหารพรรค ตั้งแต่เป็นผู้แทนได้ปีแรก ผมเป็นมหาดไทยแล้ว ต้องหาตัวประธานสภาฯ นายกมีแล้ว เสรีเขาบอกงั้นผมเสนอพี่นะ บอกเอาเลย เขาก็เสนอเดี๋ยวนั้น ก็ได้เป็น ประธานรัฐสภาคนที่5 มีคนเคยบอกว่า เป็นประธานสภาฯ เหมือนเป็นคอนดักเตอร์ คอยกำกับทาง มันตีกลองแรง เราก็โยนไปทางไวโอลิน โยนไปทางปี่ทางขลุ่ยบ้าง

ส่วนรัฐมนตรีพาณิชย์ เรื่องของเรื่องตอนนั้นเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เขาตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็น ปัญหาจริงๆ คือพรรคไม่กล้ารับ ข้าวตกต่ำ มันตกต่ำ อุตสาหกรรมเรากำลังดีๆ อยู่ ใช้มาตราทางภาษี gsp เงินอุดหนุนจะไม่ลดให้ สินค้าเราก็แพงกว่าคนอื่น โรงงานก็แย่ พอผมรับกระทรวงนี้ลูกพรรคตกใจหมด นึกไงไปรับ ไม่ได้นึก เขามาขอร้อง ผมรู้ว่าอยู่กระทรวงนี้ต้องพิการทุกคน แต่คุณไม่ต้องห่วงหรอก ผมอย่างมากก็ฟกช้ำดำเขียวไม่ยอมพิการหรอก

อ่านเกมการเมืองคนรุ่นใหม่

"แยบยลมาก" เมื่อถามว่านักการเมืองโกงกันอย่างไร แต่ทุกวันนี้ คนโวยวายได้มากขึ้น มีเรื่องก็ถ่ายรูปขึ้นโซเชียล แต่ถามว่าป้องกันได้ไหม หูตาประชาชนจะกว้างขึ้นไหม ก็ตอบอีกว่า "ยาก" เพราะคำว่าผู้มีอิทธิพล ยังไงคนก็กลัว แล้วชาวบ้านที่ดีๆ ก็ไม่อยากมีเรื่องมีราว นอกจากเป็นคู่อริกันก็ว่ากันไป แต่ที่เป็นราษฎรสุจริตเนี่ย เขาก็ไม่อยากเป็นธุระ ไม่อยากมีเรื่อง

ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ "ไม่ยอม" นายอุทัยกล่าวว่า ก็เห็นไม่ยอมแต่ในโซเชียล ไม่เห็นแสดงตัวว่าไม่ยอมสักคน

ผมเขียนรัฐธรรมนูญปี 40 ผ่านมา 25 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น
เลยคิดว่าน่าจะไม่ใช่ที่รัฐธรรมนูญ น่าจะอยู่ที่ประชาชนเรา

ผลเลือกตั้งที่ผ่านมา 14 พ.ค. พรรคก้าวไกลบอกว่าไม่ใช้เงินหาเสียง เขาไม่มีบ้านใหญ่ เขาได้มาที่ 1 เนี่ย ตรงนั้นถือเป็นสัญญาณที่ดีอยู่บ้าง บ่งบอกให้รู้ว่าถ้าประชาชนมีการศึกษาและฐานะดี ถึงจะเป็นอย่างที่ "ก้าวไกล" ชนะได้

สังเกตดูว่าก้าวไกลชนะจังหวัดไหนบ้าง ก็จังหวัดเจริญทั้งนั้น กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ

มองว่า ก้าวไกล ค่อยๆคืบคลาน ขยายวง ไปได้ในอนาคต แต่อาจจะไม่ใช่ในตอนนี้ เพราะไม่รู้ว่า "อะไร" ที่จะคืบคลานไปก่อน ถูกเบรก ถูกยุบพรรค ถูกตัดสิทธิ์

จึงมาได้ข้อคิดว่า ความเชื่อความนับถือมันเป็นสิทธิส่วนตัว คุณเชื่อก็เชื่อไป แต่ที่มันยุ่งเพราะคุณบังคับให้เขาเชื่ออย่างคุณ
ข้อนี้สำคัญ ควรเคารพในสิทธิและความเชื่อของแต่ละบุคคล อย่าไปบังคับเขาให้เชื่อตามเรา ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ศาสนา ศีลธรรม หรือทัศนคติ

นอกจากนี้ นายอุทัย ยังพูดถึงรัฐธรรมนูญเมืองไทยว่าไม่ต้องมีมากมาย เขียนแค่ 3 มาตราก็พอ

  1. มาตรา 1 เอกลักษณ์
  2. มาตรา 2 พระมหากษัตริย์
  3. มาตรา 3 ประชาธิปไตย

ที่เหลือก็อยู่ในพระราชบัญญัติ สภาผู้แทนก็บัญญัติรัฐสภา หมวด 1 สภาผู้แทน หมวด 2 รัฐสภา องค์กรอิสระมีตัวตนอยู่แล้ว คุณจะเลือกกรรมการคัดสรรใครก็ว่าไป ถ้าคุณจะเปลี่ยนกติกาองค์อิสระ คุณก็ไปแก้ข้อกฎหมายในสภาเอา ไม่ต้องเอาไปใส่ในรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องมี เพราะว่าศาลใหญ่เรามีอยู่แล้ว คือ ศาลฎีกาสูงสุด มีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยคุณให้ศาลฎีกาสูงสุดสิ ที่ประชุมใหญ่เป็นยุติ จบ

อ่านข่าวอื่น :

"พิชิต" ยืนยันพักโทษ "ทักษิณ" ไม่ทำลายกระบวนการยุติธรรม

"พล.ต.ต.ไพโรจน์" ยื่น ป.ป.ช.สอบทีมทำคดี "เว็บพนันมินนี่" ผิด ม.157

ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ แนะไทยลุยดันส่งออก 20 สินค้า ดาวรุ่ง-ดาวเด่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง