วันนี้ (19 ก.พ.2567) นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จากการติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว โดยขยายเวลาปิดสถานบริการในเวลา 04.00 น. ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และ เกาะสมุย ซึ่งมีสถานบริการขึ้นทะเบียนประมาณ 1,800 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา พบว่าได้สร้างผลกระทบชัดเจน

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข
โดยดูจากฐานข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในเดือน ม.ค.2567 ในพื้นที่นำร่องรวม 205 คน เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.2566 ที่ยังไม่มีนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 49 คน คิดเป็นร้อยละ 31 หากวิเคราะห์เฉพาะช่วงเวลา 02.00-05.59 น. ที่ตรงกับช่วงเวลาขยาย การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังมีนโยบายพบการเสียชีวิต 18 คน เพิ่มจากปีก่อน 8 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 80
แนวโน้มนี้เหมือนกันทั้ง 4 จังหวัด จึงยืนยันได้ว่านโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สถานบริการเกิดผลกระทบรุนแรง คือ เพิ่มการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเวลาเช้าตรู่ อย่างน้อยที่สุด 8 คน/เดือน หรือประมาณ 100 คน/ปี
นพ.คำนวณ ตั้งคำถามว่า การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นของประชาชนในพื้นที่นำร่องเท่าไหร่ที่รัฐถือว่ายอมรับได้ เพื่อแลกกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่ควรสนับสนุนการขยายเวลาขายแอลกอฮอล์ให้กับร้านอาหารเพิ่มเติมอีก เพราะจะมีผลทำให้คนเสียชีวิตเพิ่มอีก 5-10 เท่า หรือประมาณ 500-1,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ไม่เพียงเฉพาะคนที่ดื่มเท่านั้น แต่อาจมีถึง 1 ใน 4 ที่เป็นคนทั่วไป รวมถึงตำรวจที่ปฏิบัติหน้า ต้องเสียชีวิต เพราะถูกคนเมาขับรถชน และเห็นว่า รัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้โดยไม่ส่งเสริมการดื่มแอลกอฮอล์
อ่านข่าวอื่น :
กทม.เปิดตลาดนัดแก้หนี้ คนลงทะเบียน 9,342 แก้ยอดหนี้กว่า 90 ล้าน