ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต มีขยะจากทั้งจังหวัดภูเก็ตเข้าสู่โรงเตาเผาขยะ วันละ 900 -1,000 ตัน ทำให้ต้องนำขยะส่วนที่เหลือไปทำการฝังกลบ แต่ปัจจุบันหลุมฝังกลบซึ่งมี 5 หลุม ขยะเริ่มเต็มแล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะที่จะเข้าสู่เตาเผาขยะ ทางเทศบาลนครภูเก็ต จึงได้ทำจัดทำโครงการลดปริมาณขยะแบบครบวงจร กิจกรรม "ธนาคารขยะชุมชนสามัคคีสามกอง" นำร่องและเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งมีทั้งหมด 32 ชุมชน
เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2567 นาย สาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ต ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการขยะมูลฝอย จึงได้จัดตั้งธนาคารขยะชุมชนขึ้น โดยร่วมกับชุมชนสามัคคีสามกอง และจัดการ Kick Off ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนธนาคารขยะของจังหวัดภูเก็ตอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ทุกภาคส่วน เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธนาคารขยะให้บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณขยะและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ครัวเรือนและชุมชน
ซึ่ง ล่าสุดทางเทศบาลนครภูเก็ตได้รับความเห็นชอบในการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ระนอง ผ่านงบประมาณ 35 ล้านบาท ในการเคลียร์สหลุมฝังกลบขยะ
ด้าน นางกฤษวรรณ แซ่ตัน กรรมการชุมชนสามัคคีสามกองและคณะกรรมการธนาคารขยะชุมชนฯ กล่าวว่า การจัดทำโครงการธนาคารขยะชุมชนฯ นำร่อง นับเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและชุมชนในอนาคต เนื่องจากหลักการทำงานของธนาคารขยะฯ คือ ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชน ปรากฎว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
สำหรับชุมชนสามัคคีสามกองมีจำนวนบ้านกว่า 1,000 หลัง มีจำนวนประชากรประมาณ 2,000-3,000 กว่าคน เชื่อว่าปริมาณจะมีเป็นจำนวน แต่เมื่อมีโครงการธนาคารขยะแล้ว จะทำให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลงอย่างแน่นอน
จ.ภูเก็ต มีโรงเตาเผา 1 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต โดยรับผิดชอบทำการเผาขยะที่ถูกส่งมาจากพื้นที่ต่างๆ จากทั่วเกาะภูเก็ต วันละ 900-1,000 ตัน ขณะที่เตาเผาปัจจุบันมีขีดความสามารถในการเผาขยะวันละ 750 ตัน ในส่วนของขยะที่เหลือจะถูกนำไปฝังกลบที่หลุ่มฝังกลบในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีอยู่ 5 หลุม และขยะเต็มเกือบทุกหลุม ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เพราะที่ตั้งโรงเตาเผาอยู่ใกล้กับชุมชน ที่ผ่านมามักมีปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องของกลิ่นและควัน
อ่านข่าวอื่น :