วันนี้ (12 ก.พ.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
นายเศรษฐา เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตั้งแต่วันเปิดรับลงทะเบียน 1 ธ.ค.2566 มียอดผู้ลงทะเบียนเป็นลูกหนี้มากกว่า 140,000 ราย มูลค่าหนี้รวมกว่า 9,800 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีข้อมูลครบและสามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ 21,000 ราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จไปแล้ว 12,000 กรณี หรือคิดเป็น 57% ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ มูลค่าหนี้ลดลง 670 ล้านบาท
เศรษฐา แถลงแก้หนี้ทั้งระบบ ไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่า 57%
ตนเข้าใจดีว่าการติดต่อให้เจ้าหนี้ยินยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและทำให้มีข้อตกลงที่พึงพอใจระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทั้งข้อตกลงในการชำระหนี้ และดอกเบี้ยที่เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่มีความท้าทาย ซึ่งหนึ่งในปัญหาหลักคือเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลการลงทะเบียนไม่ครบถ้วน หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย จึงขอให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามและขอให้ประชาชนเข้าให้ข้อมูล เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกระบวนการไกล่เกลี่ยให้เร็วที่สุด
สำหรับบันไดขั้นแรกในการช่วยเหลือลูกหนี้คือ กระทรวงมหาดไทย ต้องเร่งปฏิบัติการเชิงรุก หาตัวเจ้าหนี้และดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ได้มากที่สุด โดยมีการจัดกิจกรรมตลาดนัดแก้หนี้ในทุกจังหวัด ส่วนบันไดขั้นที่ 2 ในการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กวาดล้างผู้กระทำผิดในการใช้ความรุนแรงทวงหนี้นอกระบบ สามารถจับกุมได้มากกว่า 1,300 ราย
บันไดขั้นที่ 3 มอบหมายให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแก่ลูกหนี้ ปัจจุบันธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.ออกมาตรการช่วยเหลือหลายมาตรการ แม้มีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อที่เป็นอุปสรรค แต่ได้กำชับให้ดูแลเป็นพิเศษ และบันไดขั้นสุดท้ายในการช่วยเหลือไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก คือ การสร้างรายได้เพิ่มให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องร่วมเสริมทัพและพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อสร้างรายได้
ทั้งนี้ได้แบ่งลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยได้รับการช่วยเหลือปิดบัญชีหนี้เสียแล้วมากกว่า 630,000 บัญชี มูลค่าหนี้มากกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้กลับมามีสถานะปกติในเครดิตบูโรและเข้าสู่ระบบการเงินได้ อีกทั้งยังมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีแล้วมากกว่า 10,000 ราย มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท
กลุ่ม 2 ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้มากจนเกินศักยภาพในการชำระหนี้ ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่งทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้และคาดว่าจะสามารถช่วยสมาชิกสหกรณ์ได้กว่า 3 ล้านราย และมีลูกหนี้บัตรเครดิตเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้มากกว่า 150,000 บัญชี
กลุ่ม 3 ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน โดยเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้มากกว่า 1,800,000 ราย มูลค่าหนี้กว่า 250,000 ล้านบาท และลูกหนี้ กยศ.เข้ามาติดต่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้กว่า 600,000 ราย และกลุ่ม 4 ลูกหนี้มีหนี้เสียคงค้างมาเป็นระยะเวลานาน จะมีการเตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาสแรกปี 2567
นายกฯ ระบุอีกว่า จากผลงานที่หน่วยงานได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือกับทั้งเจ้าหน้าที่และลูกหนี้ พร้อมกล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึงและจะแก้หนี้นอกระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ให้ได้
อ่านข่าวอื่นๆ :
"เศรษฐา" เผยข้อเสนอ ป.ป.ช. "ดิจิทัลวอลเล็ต" ถึงมือรัฐบาลแล้ว