ความคืบหน้ากรณีเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2567 ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกระบวนการเลี้ยงกุ้งมังกร 7 สี ภูเก็ต และประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันการขึ้นทะเบียนกุ้งมังกร 7 สี เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ภูเก็ต
วันนี้ (10 ก.พ.2567) นายสิทธิพล เมืองสง ประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การขอขึ้นทะเบียน GI กุ้งมังกร 7 สี หรือภูเก็ตล็อบสเตอร์ จะขอขึ้นทะเบียนทั้งที่จับมาได้จากธรรมชาติและการเพาะเลี้ยง เนื่องจากลูกพันธุ์ที่นำมาเพาะเลี้ยงส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ โดยชาวประมงจับได้และนำมาขายให้เกษตรผู้เพาะเลี้ยง ข้อมูลปี 2566 สามารถผลิตกุ้งมังกร 7 สี ได้ถึง 6.6 ตัน
สำหรับจุดเด่นของกุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ส่วนหัวมีสีเหลือง ลำตัวสีเขียวใส โคนหนวดสีชมพู มีแถบสีขาวและดำพาดขวางลำตัว ขอบท้ายของปล้องท้องมีลายสีครีม หนวดของกุ้งมังกรดังกล่าวเรียวยาวและไม่มีก้ามปล้อง ท้องเรียบไม่มีร่องขวางกลาง หางมีลักษณะแผ่เป็นหางพัด มีกระดองบาง ทำให้เนื้อกุ้งเยอะกว่าสายพันธุ์อื่น
นายสิทธิพล กล่าวว่า รสชาติของเนื้อกุ้ง แน่น หวาน เคี้ยวนุ่มไม่ยุ่ย จึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียน GI เป็นตัวที่ 4 ของภูเก็ต
นอกจากนี้ ยังมีประวัติที่บ่งชี้ถึงแหล่งกำเนิดกุ้งมังกร 7 สี โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยือน จ.ภูเก็ต เมื่อปี 2502 ได้ปล่อยลูกพันธุ์กุ้งมังกร 7 สีลงทะเล โดยภูเก็ตมีกุ้งมังกรอาศัยอยู่จำนวนมาก ขณะนี้กำหนดให้บริเวณเกาะงำ อ.ถลาง และเกาะทะนาน อ.เมืองภูเก็ต เป็นพื้นที่อนุรักษ์กุ้งมังกร