ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่าย รร.แพทย์ฯ ร้อง "ชลน่าน" ทวงเงินสปสช.ค้างจ่าย 14 ก.พ.นี้

สังคม
8 ก.พ. 67
16:36
485
Logo Thai PBS
เครือข่าย รร.แพทย์ฯ ร้อง "ชลน่าน" ทวงเงินสปสช.ค้างจ่าย 14 ก.พ.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เครือข่ายแพทย์ 4 สถาบัน สู้ไม่ถอย แจงหยิบเหตุโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ -คลินิกกทม. ขาดสภาพคล่อง ชี้ผลกระทบจากระบบบริการทเปลี่ยนแนวทางจ่ายเงิน เพียง 57 % จากค่าบริการจริง

วันนี้ (8 ก.พ.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา เครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นในกทม. กว่า 100 แห่ง ขึ้นป้ายดำประท้วงกรณีการเบิกจ่ายงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งล่าช้า และทำให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาการขาดสภาพคล่องกันทั่วหน้าตัั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 จนถึงปัจจุบัน

ล่าสุดเครือข่ายแพทย์ 4 สถาบัน ประกอบด้วย เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ,ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ,ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ และสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่นได้ทำจดหมายเปิดผนึกยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อ ถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาเรื้อรังจากการบริหารจัดการของสปสช. ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับเนื้อหาในจดหมายดังกล่าว ได้เสนอว่า สถานพยาบาล ที่ได้รับผลกระทบในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใน กทม.คือ  สปสช.เขต 13 และคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต13 มีการปรับระบบบริการที่ผิดพลาด จากโมเดล 2 เป็นโมเดล 5 ในปีงบประมาณ 2564 ส่งให้มูลค่าการบริการเกินกว่าการบริการเกือบ 300 ล้านบาท

โดย สปสช.จ่ายบริการชดเชยค่าบริการผู้ป่วยนอกแก่คลินิกชุมชนอบอุ่น เพียงร้อยละ 57 ของค่าบริการจริง ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2567 ปรากฎว่ามีการจ่ายค่าบริการในไตรมาสแรกเกินกว่า ร้อยละ 50 ของงบประมาณ มีแนวโน้ม จะมีปัญหาเช่นเดียวกับปี 2566

อยากเรียกร้องให้หยุดใช้โมเดล 5 ในกทม.โดยเร็ว และกลับไปใช้โมเดล 2 โดยแนะนำให้จัดสรรงบประมาณ ค่าบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมให้เพียงพอ สำหรับการบริการใน 3 ไตรมาส ที่เหลือของปีงบประมาณ 2567 และจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ในอัตราปกติ และไม่ควรขยายบริการโมเดล 5 ออกไปนอก กทม.

ส่วนระบบบริการสุขภาพในภูมิภาค ซึ่งดำเนินการโดยสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข เกือบร้อยละ 100 นั้น พบปัญหาโดยสังเขป คือ  ค่าบริการเหมาจ่ายรายหัว สปสช. จ่ายให้ต่ำกว่าต้นทุนอมาก

เมื่อปี 2567 ต้นทุนในหน่วยบริการโรงพยาบาลศูนย์ และ โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของผู้ป่วยในอยู่ที่ 13,142 บาท ต่อ 1AdjRW แต่สปสช.กลับจ่ายในอัตรา 8,350 บาท ต่อ 1AdjRW หรือ ร้อยละ 63 ของต้นทุนบริการมาตลอด ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาก ไม่มีการปรับเพิ่มอัตราจ่ายให้หน่วยบริการ

นอกจากนี้ในปี 2566 สปสช. คาดว่าบริการผู้ป่วยในต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะสถานการณ์โควิด ผู้ป่วยถูกเลื่อนบริการ ทำให้มีผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ยอดบริการผู้ป่วยจึงปรับเพิ่มสูงขึ้น

โดย สปสช.ไม่เคยประสานกับหน่วยบริการในการประเมินฉากทัศน์ และใช้วิธีแก้ปัญหาเดิม ๆ ดึงเงินค่าบริการผู้ป่วยใน กลับจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 710 แห่ง รวมเป็นเงิน 2,200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการจ่ายค่าบริการเพียง 7,678 บาทต่อ 1AdjRW หรือ คิดเป็น ร้อยละ 58 ของต้นทุน

ทั้งนี้การจ่ายค่าบริการต่ำกว่าทุน ทำให้หน่วยบริการประสบปัญหาวิกฤตการเงิน รพ.เอกชน ออกจากระบบหลักประกันสุขภาพ หากปล่อยเป็นเช่นนี้ อนาคตจะกระทบต่อบริการประชาชน

ที่ผ่านมา สปสช.ประกาศปรับอัตราการเบิกจ่ายไม่เคยมีการตกลงร่วมกับหน่อยบริการ ทั้งที่ต้นทุนโรงพยาบาลแต่ละระดับ ที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายสถานพยาบาลฯ ยังมีข้อเสนอแนะ ใช้เงินกองทุนรายได้ ต่ำกว่ารายจ่ายสะสม เนื่องจากเป็นการให้บริการเกินเป้าหมายจริง ,ค่ารักษาส่วนที่เกินจากการประมาณการ สปสช ควรแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ผลักภาระให้หน่วยบริการ ซึ่ง สปสช.ต้องลงบัญชีเป็นลูกหนี้ของโรงพยาบาล ที่เคยเรียกคืน ไม่ใช่ลงบัญชีว่า "โรงพยาบาลเป็นลูกหนี้ สปสช."

และควรต้องลดขั้นตอน และลดการกำหนดข้อมูลที่มากเกินจำเป็น พร้อมสนับสนุนให้เร่งรัดจัดตั้งเครือข่ายสถานพยาบาล Provider Board เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ใช้ข้อมูลการบริการจริงในการคำนวณวงเงิน

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายแพทย์ 4 สถาบันจะนัดรวมตัวกันที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อ น.พ.ชลน่าน ในฐานะประธานบอร์ด สปสช พร้อมข้อเสนอ ปรับปรุงการดำเนินการของ สปสช และ เร่งรัดจัดตั้งองค์กรสถานพยาบาล (provider board) ในวันที่ 14กุมภาพันธ์ 2567 เวลา10.00 น. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง