วันนี้ (6 ก.พ.2567) เมื่อเวลา 11.00 น. นายประยุทธ เพชรคูณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสูด พร้อมด้วย นายณรงค์ ศรีระสันต์ และ นาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ ร่วมแถลงความคืบหน้าคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด มาตรา 112 คดีดังกล่าวเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2559 สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับแจ้งสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรจากพนักงานสอบสวน ปอท.โดยมี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม เป็นผู้กล่าวหา นายทักษิณ ข้อหาร่วมกันดูหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชินีและรัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
ประยุทธ เพชรคูณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสูด
เหตุเกิดเมื่อ 21 พ.ค.2558 ที่ กรุงโซลประเทศเกาหลีใต้ และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน ความผิดดังกล่าว เป็นความผิดที่มีการกล่าวหาว่ากระทำผิด มาตรา 112 โดยการกระทำความผิดตามกฎหมายไทย ได้กระทำนอกราชอาณาจักรจึงเป็นหน้าที่ของ อสส.ในการดูแลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามมาตรา 20 ในยุค ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ได้ตรวจพิจารณาสำนวนและมีความเห็น และมีความเห็นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2559 โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณตามข้อสั่งฟ้องตามที่พนักงานสอบสวนสั่งฟ้องมา แต่เนื่องจากผู้ต้องหาอยู่ระหว่างหลบหนี อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับภายในอายุความ 15 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ โดยคดีจะหมดอายุความ 21 พ.ค.2573
อ่านข่าว : กางไทม์ไลน์ คดี "ทักษิณ" กระทำผิด ม.112
ต่อมา วันที่ 22 ส.ค.2566 นายทักษิณ เดินทางกลับมาไทย และถูกควบคุมตัวเพื่อรับโทษในคดีอาญาในคดีอื่น พนักงานสอบสวนนำหมายจับไปแจ้งอายัดตัวกับกรมราชทัณฑ์แล้ว ต่อมาเมื่อ 17 ม.ค.2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะได้ร่วมกับพนักงานสอบสวน ตำรวจเข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมพฤติการณ์ในคดีให้นายทักษิณรับทราบแล้ว และยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด
ต่อมาอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน พร้อมหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้อัยการที่ดูแลเพื่อรวบรวมส่งต่อ อสส.พิจารณาขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานกิจการคดี อัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้น เพื่อส่งให้ อสส.มีความเห็นและมีคำสั่งทางคดีต่อไป
ณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนและช่วยเหลือทางกฎหมาย รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
นายณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนและช่วยเหลือทางกฎหมาย รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ช่วงที่มีความเห็นควรสั่งฟ้องและรอนำตัวนายทักษิณกลับมานั้น ขณะนั้นยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ล่าสุดเพิ่งแจ้งข้อกล่าวหา และทราบจากข่าวว่านายทักษิณยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาด้วย โดยจะนำมาพิจารณาในการทำความเห็นของผู้บังคับบัญชา
นายประยุทธ กล่าวว่า ขั้นตอนการปฏิบัติตรวจสำนวนของพนักงานอัยการ หากเป็นสำนวนที่สมบูรณ์ครบถ้วน ทั้งการให้การ พยานหลักฐานของฝ่ายผู้กล่าวหา พร้อมทั้งคำให้การและพยานของฝ่ายผู้ต้องหา จะมีความเห็นสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง แต่ ณ เวลาที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการนั้น ฝ่ายผู้ต้องหายังคงหลบหนีอยู่ จึงยังไม่ได้สอบปากคำ และไม่มีหลักฐานจากฝ่ายผู้ต้องหา ซึ่งระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาฯ จะกำหนดให้อัยการทั่วประเทศ ลงความเห็นเพียงว่า ควรสั่งฟ้อง เช่นเดียวกับคดีนี้ เพราะสำนวนยังไม่ครบถ้วน ต้องรอได้ตัวมาและฟังความเห็นทุกฝ่าย ก่อนวินิจฉัยอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ทีมพนักงานสอบสวนได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับนายทักษิณ ซึ่งทางผู้ต้องหาส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแนบมาด้วย จึงเป็นประเด็นให้ผู้รับผิดชอบทางคดีต้องรวบรวมพยานหลักฐาน นำเสนออัยการสูงสุด เพื่อลงความเห็นในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งสามารถสั่งได้ 3 แนวทาง คือ สั่งสอบเพิ่ม หากมีประเด็นต้องสอบสวนให้กระจ่าง สิ้นความสงสัย, หากสำนวนพร้อมสมบูรณ์ ก็จะยืนตามความเห็นเดิม คือ สั่งฟ้อง, หากหลักฐานพบว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด ก็จะสั่งไม่ฟ้อง
อย่างไรก็ตาม อัยการสูงสุดจะมีความเห็นและคำสั่งอย่างไร เป็นการเร็วเกินไปที่จะไปก้าวล่วงการพิจารณาในส่วนนี้ เพราะสำนวนถูกส่งมาที่ฝ่ายกิจการฯ เพื่อคัดกรอง ตรวจพยานหลักฐาน ลงความเห็น ก่อนเสนอรองอัยการสูงสุดที่กำกับดูแล จากนั้นจะไปถึงขั้นเสนออัยการสูงสุด
นาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่ากรมราชทัณฑ์ ยังไม่มีคำสั่งพักโทษนายทักษิณ แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัด และกรมราชทัณฑ์ได้ตอบรับการอายัดตัวเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566 ซึ่งคดีนี้หากมีการพักโทษ ทางเรือนจำจะต้องแจ้งไปยังพนักงานสอบสอนให้มารับตัวนายทักษิณไว้มาดำเนินการควบคุม ซึ่งจะต้องพิจารณาจะปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน หรือนำตัวไปขอศาลฝากขัง ก่อนจะแจ้งผลการควบคุมตัวมาที่พนักงานอัยการว่าได้มีการควบคุมตัวนายทักษิณอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :