คัมภีร์ใบลานจดจาร พระไตรปิฎก ถูกเก็บรักษาไว้ในปราสาทพระไตรปิฎก วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นอักษรขอมภาษาบาลี กำลังถูกนำมาอนุรักษ์ ตามแบบฉบับของงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ ประเภทคัมภีร์โบราณ โดยกรมศิลปากร และเหล่าจิตอาสา เพื่อทำความสะอาด จัดเก็บเรียบเรียงเป็นหมวดหมู่ใหม่


ปราสาทพระธรรม
ปราสาทพระธรรม
เนื่องจากอายุของใบลานเหล่านี้ มีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต่อมาได้รับการซ่อมสร้างใหม่ ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลักฐาน ปรากฏชัด จากพระราชลัญจกร ของทั้งสองพระองค์ และจารอักษรขอม ที่ระบุว่า

จดจารใบลาน
จดจารใบลาน
“หนังสือวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาสร้างอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีระกา สัปตศก ศักราช ๑๒๔๗”

หากบวกคุณหาร ตามกระบวน จุลศักราช บวกด้วย 1181 ก็จะเท่ากับ พุทธศักราช 2428 หรือหมายความว่า คัมภีร์ใบลานดังกล่าว มีอายุอานามประมาณ 139 ปี และสมเหตุสมผลที่ต้องชำระ ด้วยการอนุรักษ์

นายวินัย เภาเสน นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
นายวินัย เภาเสน นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
นายวินัย เภาเสน นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เล่าว่า จากการสำรวจคัมภีร์โบราณในตู้พระธรรมเหล่านี้ ถูกเก็บรักษาในกล่องไม้อย่างดี ซึ่งการจัดเก็บลักษณะนี้ หากมองผิวเผินดูดี แต่ทว่าใบลานเมื่ออยู่ในกล่องไม้เวลานาน จะมีความชื้นสูง ส่งผลให้ใบลาน “จับปึก” แน่น แกะแซะไม่ออก
สำรวจพบว่า คัมภีร์ใบลานที่เก็บรักษาไว้ทั้งหมด อยู่ในสภาพที่เข้าสู่กระบวนการอนุรักษ์ 20 % ส่วนเหลือ 80 % ชำรุดเสียหาย จับปึกแน่ ไม่สามารถเปิดออกดูได้ นับว่า ใบลานเสียหายมากที่สุด เท่าที่เคยทำงานอนุรักษ์มา

เนื้อหาในใบลาน เป็นการจดจาร ด้วยเหล็กแหลมกรีดลงบนใบลาน จากนั้นใช้เขม่าผสมน้ำมันชันยางทาลงไปบนใบลานทับ ให้ตัวอักษรปรากฏ และใช้ทรายคั่วมาโรยใช้ลูกประคบขัดใบลานของเขม่าส่วนเกินออกทำให้ใบลานสะอาดและตัวอักษรจารึกยาวนานอยู่มาได้หลายร้อยปี และการจัดเก็บเดิมใช้ผ้าห่อ เพื่อให้อากาศถ่ายเท ตามภูมิปัญญา
"จิตอาสา"ช่วยอนุรักษ์ "ใบลาน"มรดกไทย

กระบวนการอนุรักษ์ นับเป็นภาระหนักอก ของคนทำงาน ด้วยจำนวนงานที่มากล้น ของทุกชิ้นล้วนทรงคุณค่าเก่าแก่ การหาอาสาสมัคร จิตอาสา มาช่วยงานอนุรักษ์ ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ช่วยให้ประชาชนทุกคนตระหนัก ถึงการส่วนหนึ่งของงานอนุรักษ์สมบัติของชาติ ที่ไม่จำเพาะต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐเท่านั้น และยังได้รับความรู้ที่ถูกต้อง สามารถปฏิบัติได้จริง
นางอุบล แก้วดี จิตอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานอนุรักษ์ของกรมศิลปากร ด้วยความบังเอิญ จากการที่กรมศิลปากร ไปจัดโครงการอนุรักษ์ ที่วัดไก่เตี้ย โดยเพื่อนลงชื่อให้ร่วมเป็นจิตอาสา ได้รับความรู้เรื่องงานอนุรักษ์ การทำความสะอาดใบลาน จากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร จนสนใจเป็นจิตอาสา ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตลอดมา ที่วัดราชประดิษฐฯนับเป็นวัดที่ 3 แล้ว
ภูมิใจได้เป็นส่วนหนึ่งของงานอนุรักษ์สมบัติของชาติ น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ทำ ยิ่งเป็นการทำความสะอาดใบลานที่จารึกพระไตรปิฎก ก็เหมือนได้บำรุงพระศาสนา ด้วยการปฏิบัติอย่างแท้จริง ทุกครั้งที่ทำงาน ก็จะยกมือไหว้ ใบลานก่อนเสมอ ถือเป็นการขออนุญาตทำงานอนุรักษ์นี้

จิตอาสา
จิตอาสา

เช่นเดียวกับนางเบญวรรณ มหไพโรจน์ จิตอาสาฯ ซึ่งสละเวลามาร่วมกิจกรรมนี้ ชี้ให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง กับการทำงานจิตอาสาด้านการอนุรักษ์ ต้องทำด้วยใจและมีสติขณะทำเสมอ
ตอนแรกรู้สึกกังวล กลัวของโบราณล้ำค่าเหล่านี้จะยิ่งชำรุด ทำให้คิดว่า การทำงานอนุรักษ์ ต้องทำด้วยความประณีต ใส่ใจ มีสติ หยิบจับเช็ดถูกต้องระมัดระวัง โดยการใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด
ไม่ต่างจาก 2 สามีภรรยา ครอบครัวกาญจนภูบดี ที่ตกลงกันว่า หากมีเวลาว่างก็จะมาร่วมงานอนุรักษ์กับกรมศิลปากร เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ ทะนุบำรุงสมบัติของชาติ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม และเข้าใจในแก่นแท้ของรากเหง้าวัฒนธรรมไทย

เช็ดสิ่งสกปรก
เช็ดสิ่งสกปรก
นี่เป็นเพียงตัวแทนเหล่าจิตอาสา 16 คน ที่จะสลับหมุนเวียนมาช่วยงานเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ซึ่งตลอดการทำงาน จะมีเจ้าหน้ากำกับให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ทั้งกำชับให้สวมใส่ถุงมือ ป้องกันเชื้อรา ที่อยู่ในกล่องไม้ หรือ ใบลาน และการทำความสะอาดต้องทำในพื้นที่อากาศถ่ายเท ทั้งดีต่อวัสดุโบราณ และคนทำงาน
เนื้อหาใบลาน "พระโอษฐ์"ของพระพุทธเจ้า

นายวัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
นายวัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
หลังคัมภีร์ใบลาน ผ่านการทำงานสะอาดปราศจากเชื้อราแล้ว เป็นหน้าที่ของนักภาษาศาสตร์ นายวัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กล่าวว่า หัวใจหลักของงานอนุรักษ์ คือ การจัดเรียงหมวดหมู่ สิ่งที่จดจารใบลานนั้น และออกเลขทะเบียน ทำบัญชีสิ่งของ
สิ่งที่อยู่ในใบลาน 1 ผูก ที่มีมากถึง 24 หน้าลาน มีตั้งแต่ พระไตรปิฎก ,พระวินัย และพระอภิธรรม ฉะนั้นของเหล่านี้ยิ่งเก่าเท่าไหร่ ยิ่งตรงกับพระพุทธพจน์ หรือ พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า
วิวัฒนาการ การจดจาร บันทึก หลักธรรมคำสอน ของพระพุทธศาสนา ก็เปลี่ยนผ่านตามยุคสมัย จากมุขปาฐะ มาเป็นบันทึกจดจารในวัสดุต่าง ใบลาน, สมุดไท ล้วนแต่มีการเรื่องราวคลี่คลายขยายตัว วิปลาส คาดเคลื่อนเสมอ แต่การสาวหาต้นตอ เท่ากับได้รับคำสอนตามพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า

ตู้ธรรม
ตู้ธรรม
หากมองในมุมประวัติศาสตร์ จะเห็นว่า การสืบทอดการบำรุงพระศาสนา ผ่าน 3 รัชกาล สืบทอดกันมา ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้จดจารใบลาน ,รัชกาลที่ 5 ซ่อมสร้างใบลาน และปราสาทพระไตรปิฎก ส่วน สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สร้างตู้พระธรรม ซึ่งงานซ่อมสร้าง
อนุรักษ์ใบลานเหล่านี้ คาดว่าจะใช้เวลาจะเสร็จสิ้นราวเดือนเมษายน ส่วนกล่องไม้ที่บรรจุใบลานเดิมนั้น จะถูกส่งมอบให้สำนักช่างสิบหมู่ อนุรักษ์ต่อไป

เรื่องราวของการรักษ์ สิ่งของโบราณทรงคุณค่าเหล่านี้ เชื่อว่าในอนาคต คงมีให้พบเห็นมากขึ้น ด้วยแนวคิด พวกเราล้วนแต่เป็นของเจ้าสมบัติชาติ และรากเหง้าทางวัฒนธรรมคือตัวตนของคนไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เมืองพริบพรี สู่ "เขาพนมขวด" แลนด์มาร์คฮีลใจ รพ.พระจอมเกล้า