วันนี้ (31 ม.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.00 น.ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย คดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-ชัยธวัช ตุลาธน
"พิธา-ชัยธวัช" ไม่ไปฟังคำวินิจฉัยที่ศาล
โดยวันนี้ นายพิธา และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึง สส. ของพรรค ไม่ได้ไปรับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะติดตามฟังคำวินิจฉัยอยู่ที่สภาฯ เพราะมีภารกิจประชุมสภาฯ ด้วย และมอบหมายให้ทีมทนายความ เข้ารับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการรัฐศาสตร์ ระบุว่า กรณีที่นายพิธา จะนำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมือง และนำไปสู่การยุบพรรคหรือในชั้นนี้ โอกาสเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะมาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการสั่งให้หยุดการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และขณะเดียวกันคำร้องของผู้ร้องเป็นร้องเพียงแค่ให้หยุดการกระทำไม่ใช่คำร้องให้ยุบพรรค
รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการรัฐศาสตร์
จับตาบรรทัดฐานหาเสียงคดี ม.112
ดังนั้นที่อาจจะหยิบนำคำวินิจฉัย ที่ผ่านมาการล้มล้างการปกครอง หรือการนำกฎหมายเหตุในการยุบพรรคจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าปรากฎการณ์ลาการภิวัตน์ ศาลจะไม่หยิบจับประเด็นนี้มาใช้อย่างแน่นอน
ที่ต้องจับตาคือการวางบรรทัดฐานการล้มล้างการปกครองจะเดินหน้าไปอย่างไร
รศ.ยุทธพร กล่าวว่า เพราะถ้าการวางบรรทัดฐานตรงนี้ว่า การพูดถึงมาตรา 112 การปฏิรูปต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นสิ่งล้มล้างการปกครองอนาคต จะส่งผลกระทบในการหาเสียงในครั้งหน้าอาจจะไม่หยิบจับในประเด็นนี้ หรืออาจะมีคนนำเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐ ธรรมนูญเป็นสารตั้งต้นในการยุบพรรค ตามกฎหมายพรรคการเมืองในการหรือการแก้กฎหมายในสภาก็ตาม
อ่านข่าว "อ.ปริญญา" เผย 3 แนวทางตัดสินคดี "พิธา-ก้าวไกล" หาเสียงยกเลิก ม.112
ศาลรัฐธรรมนูญคุมเข้มรอบพื้นที่
ขณะที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คุมเข้มมาตรการความปลอดภัยโดยรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ตามประกาศศาลรัฐธรรมนูญเรื่องอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย
โดยกำหนดห้ามผู้ใดเข้ามาในพื้นที่ควบคุม เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มาปฏิบัติงาน หรือมาติดต่อราชการ ต้องผ่านการตรวจตัวบุคคลและสิ่งของที่นำมา ตามวิธีการของเจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย เนื่องจากหน่วยงานทางความมั่นคง ได้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าอาจมีสถานการณ์ที่มีสิ่งบอกเหตุหรือข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยและความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นได้
โดยมีการนำแผงรั้วเหล็กมากั้น โดยรอบพื้นที่ทั้งด้านในและด้านนอกอาคารฯ โดยจะมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตามสถานการณ์ เฝ้าติดตามกรณีมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ซึ่งการพิจารณาคดีสำคัญๆ ที่ผ่านมา การจัดกำลังดูแลความปลอดภัยจะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ทุ่งสองห้อง เป็นกำลังหลัก ร่วมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
ส่วนบุคคลที่จะเข้ารับฟังการอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยจะต้องแลกบัตรฝากสิ่งของ รวมทั้งต้องผ่านจุดตรวจค้นอาวุธ ซึ่งนายธีรยุทธ ผู้ร้อง จะเดินทางไปรับฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง โดยจะถึงที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ เวลาประมาณ 13.30 น.
อ่านข่าว