จุดเริ่มต้นมหากาพย์นี้มาจาก นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธะอิสระ เข้ายื่นเรื่องต่อ "อัยการสูงสุด" ในคดีล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการที่พรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น เสนอ พ.ร.บ.แก้ไข ม.112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง 2566 เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2566 หรือราว 2 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค.2566
ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.2566 นายธีรยุทธ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนในเรื่องเดียวกันแต่เปลี่ยนผู้รับคำร้องเป็น "ศาลรัฐธรรมนูญ" แทน โดยคำร้องของนายธีรยุทธ ผู้ใช้ชื่อแทนตัวเองว่า "ทนายความอิสระ" ขอให้ศาลฯ สั่งให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล
- เลิกการดำเนินการใดๆ หรือการกระทำใดๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112
- เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ที่กระทำอยู่ และจะดำเนินการหรือกระทำต่อไปในอนาคต
ต่อมาวันที่ 12 ก.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของนายธีรยุทธ และให้นายพิธา และ พรรคก้าวไกลยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
26 ก.ค.2566 พรรคก้าวไกล เปิดคำร้องฉบับเต็ม หลังถูกกล่าวหา "ล้มล้างการปกครอง" ชี้สาเหตุจากการเสนอแก้ 112 พร้อมระบุ "แก้ไขไม่ใช่ล้มล้าง" เตรียมยื่นคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 28 ก.ค. แต่ศาลฯ อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงอีก 30 วัน เป็นวันที่ 27 ส.ค.2566
20 ธ.ค.2566 นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล มั่นใจคดีแก้มาตรา 112 ที่ถูกร้อง โทษไม่ไปไกลถึงยุบพรรค เหตุคำฟ้องให้หยุดการกระทำ ทั้งนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายเตรียมความพร้อมและส่งเอกสารชี้แจงเพื่อประกอบการไต่สวน เชื่อว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่เป็นความผิดตามคำร้อง พร้อมชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ 25 ธ.ค.2566
25 ธ.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งนัดผู้ถูกร้อง คือ นายพิธา (ผู้ถูกร้องที่ 1) และนายชัยธวัช ตุลาธน (ผู้ถูกร้องที่ 2) ให้ฟังคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง โดยศาลฯ นัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 31 ม.ค.2567 เวลา 09.30 น. กับนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 14.00 น.
27 ม.ค.2567 พรรคก้าวไกล ปล่อยคลิป "ปฏิรูปต้องไม่เท่ากับล้มล้าง" พร้อมระบุข้อความว่า แก้ไข 112 ไม่เท่ากับล้มสถาบัน แต่คือหน้าที่ตามระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
28 ม.ค.2567 นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยโพสต์ ระบุว่า ตนไม่ได้ยื่นคำร้องให้ "ยุบ" พรรคก้าวไกลแต่อย่างใด แต่เหมือนเป็นการ "ทุบ" ให้พรรคหยุดการใช้ พ.ร.บ.แก้ไข 112 ในการหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการให้สัมภาษณ์ทั้งใน-นอกประเทศ หรือกระทำการใดๆ ในอนาคต
30 ม.ค.2567 "ก้าวไกล" ไม่หวั่นศาลนัดวินิจฉัยคดีหาเสียงแก้ ม.112 ล้มล้างการปกครอง ในวันพรุ่งนี้ (31 ม.ค.2567) โดย น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สมาชิกพรรคก้าวไกลทุกคนยังมีกำลังใจดี และจากการตรวจผลตอบรับจากประชาชนก็ไม่รู้สึกกังวลมากนักแต่ก็คาดหวังความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม
31 ม.ค.2567 การประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เวลา 09.30 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติและออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในเวลา 14.00 น. มีรายงานว่า นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้อง จะเดินทางไปรับฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง ในเวลาประมาณ 13.30 น. ส่วนทางพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้อง แจ้งว่า นายชัยธวัช ตุลาธน และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะไม่ไปรับฟังคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องปฎิบัติหน้าที่ที่สภาผู้แทนราษฎร
อ่าน : "อ.ปริญญา" เผย 3 แนวทางตัดสินคดี "พิธา-ก้าวไกล" หาเสียงยกเลิก ม.112