จ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ที่ยังคงทำนาเกลืออยู่ ร้อยละ 0.2 ของพื้นที่การทำนาเกลือทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย มีการทำนาเกลือทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ปัตตานี
เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลทำนาเกลือ เกษตรกรจะปรับพื้นที่นาให้เรียบและมีความหนาแน่น จากนั้นทำการปล่อยน้ำทะเลให้เข้าสู่แปลงนาขัง เพื่อให้น้ำทะเลตกตะกอนจากนาขังสู่นาตาก ก่อนเข้าสู่กระบวนการทำให้น้ำทะเลระเหยออกเพื่อเพิ่มระดับความเค็ม
ลุงแมว สมพงษ์ แก้วมรกต วัย 74 ชาวนาเกลือ บ้านผีขุด อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เล่าถึงขั้นตอนเบื้องต้นให้ฟังว่า นาเกลือ ขั้นตอนมันเยอะ ตั้งแต่เริ่มทำใหม่ๆ ต้องมีการเซาะร่อง แต่งคันนา ส่วนนี้ต้องทำทุกปีเมื่อเริ่มทำ และ จ้างเค้าคราดนา จากนั้นต้องตีละเลงให้เรียบ มันไม่ใช่ง่ายๆ
ปัจจัยหลักคือ ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ พร้อมเลย ทั้ง 4 อย่างนี้ประกอบกัน มีลม ไม่มีแดดก็ไม่ดี เพราะ "แดด" จะเผาให้ร้อน ส่วน "ลม" จะหมุน "น้ำ" ในนาให้จับเป็นเม็ดเกลือ คือ เพาะเม็ดเกลือให้มันโตขึ้น นี่คือ วิถีทางการทำนาเกลือแบบธรรมชาติ ไม่มีวิธีลัด
"พอทำร่องเสร็จก็เริ่ม "กลิ้ง" และราดน้ำที่มีความเค็มประมาณ 3 ดีกรี ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาเป็นเดือน ทำซ้ำไปซ้ำมา โดยอาศัยแดด ในการเคี่ยว พอผ่านไป 2 คืน จะขึ้นถึง 6 ดีกรี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในการวัดค่าความเค็มของน้ำ จะใช้ปรอทวัดความเค็ม ซึ่งต้องวัดค่าทุกวัน หลังจากเริ่มทำ" ลุงแมวกล่าวอย่างออกรส
เมื่อถึง 25 ดีกรี ก็สามารถปล่อยเป็นเกลือได้ โดยเราต้องคำนวณน้ำด้วยว่า ตอนปล่อยเป็นเกลือประมาณอีก 15 วัน เรา ต้องหาน้ำมาเตรียมไว้ เพราะหลังจากปล่อย 2 วันน้ำจะแห้ง ขั้นตอนนี้ต้องค่อนข้างละเอียดพอสมควร ไม่ใช่เอาน้ำมาแช่เฉยๆ แล้วเป็นเกลือ จะไม่มีคุณภาพ
หลังจากเก็บเกลือแล้วก็จะทำกระบวนการเดิมซ้ำอีกและประมาณ 3 วัน จะเริ่มเก็บได้อีกครั้งเพราะมีหัวเชื้อแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และต้องวัดดีกรีตลอด ซึ่ง 1 กระทง (นาเกลือ ประมาณ 1 ไร่) จะทำได้ประมาณ 4-5 ครั้ง
เมื่อคราดขึ้นกองเสร็จเรียบร้อย ก็จะเก็บไว้ในยุ้งเกลือก่อนนำออกจำหน่าย หรือมีลูกค้าขาประจำจะมารอรับที่นาเลย
ความแตกต่างของเกลือที่ฉะเชิงเทรา จะมีความอ่อนกว่าที่อื่นๆ ที่อื่นเกลือจะมีความแกร่ง ซึ่งทางนั้นน้ำจะมีความเค็มทั้งปี ส่วนบ้านเรา ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. น้ำจะจืด จากน้ำที่มาจากทางปราจีนบุรีมาที่ปากอ่าวมาเยอะ สิ่งที่ต้องกังวลที่สุดคือฝนตก เพราะต้องเริ่มใหม่ทันที และจะทำให้เกลือดำ
ในส่วนของค่าจ้างในการเกลี่ยทำร่อง ทำคัน 1 กระทง เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ค่าจ้างกระทงละ 3 บาท ปัจจุบัน 200 บาท และจ้างแรงงานเก็บเกลืออีกต่อ 1 รอบการเก็บเกือบ 6,000 บาท
1 กระทงจะได้ 8-9 เกวียน (1 เกวียน 100 ถังหรือ 1.6 ตัน) ส่วนราคาเกลือนั้นไม่ตายตัว ถ้าปีไหนเกลือในประเทศไม่ขาดก็จะถูก ปัจจุบันที่นี่เราขายเกวียนละ 3,000 บาทขึ้นอยู่กับคุณภาพ แต่บางปีได้ไม่ถึงพันก็มี และส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ ส่วนขาจรแทบจะไม่มีแล้วในปัจจุบัน
"ทำนาเกลือมันไม่ได้ร่ำรวย มันก็ได้พอกินพอใช้ ปัจจุบันคนทำก็น้อยลง ส่วนใหญ่จะเลิกทำและขายที่ทิ้งไป รุ่นๆ ลุงก็แทบจะล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมาทั้งชีวิต ตอนนี้ก็มีลูกชายมาช่วยงาน ลุงก็ทำแต่อาชีพนี้ นี่ก็เข้าปีที่ 40 ทำจนมันกลายเป็นวิถีชีวิตของผมไปแล้ว" ลุงแมว คนผีขุด กล่าวทิ้งท้าย