การสร้าง "วัดพระราม" ในเมืองอโยธยา ประเทศอินเดีย ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของรัฐบาลพรรค BJP ที่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมฮินดู หลังจากนเรนทรา โมดี ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2014 พร้อมกับการผลักดันแนวคิดทางการเมืองอย่าง "ฮินดูทวา" หรือ ความเชื่อที่ว่าอินเดียควรเป็นดินแดนของชาวฮินดู ให้กลายเป็นวาระของชาติ
บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองบนถนนอโยธยา
ผู้นำอินเดียฉลองเปิด "วัดพระราม" เรียกคะแนนก่อนเลือกตั้ง
ท้องถนนในเมืองอโยธยาเต็มไปด้วยบรรยากาศรื่นเริง เสียงดนตรีและสีสัน หลังจากชาวฮินดูจากทั่วทุกสารทิศทยอยหลั่งไหลมาที่เมืองนี้เพื่อเข้าร่วมในพิธีเปิดวัดพระราม ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงเที่ยงๆ วันนี้ (22 ม.ค.2567) ตามเวลาท้องถิ่น
ผู้นำอินเดียจะเป็นประธานในพิธี หลังจากอดอาหารมา 11 วัน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีชำระล้างเพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมงานสำคัญในครั้งนี้ แต่นักบวชฮินดูบางส่วนปฏิเสธเข้าร่วมงาน เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่มีการจัดพิธีเปิด ทั้งๆ ที่ยังสร้างวัดไม่เสร็จ ขณะที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านหลายคนไม่ยอมเข้าร่วมงาน เพราะมองว่า วัดแห่งนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเรียกคะแนนนิยม ก่อนหน้าการเลือกตั้งในเดือนเมษายน หรือ พฤษภาคมนี้
นเรนทรา โมดี จะเป็นประธานในพิธี หลังจากอดอาหารมา 11 วัน
วัดพระรามเกิดขึ้นจากความพยายามมากกว่า 30 ปีของพรรค BJP และแม้ว่าวัดแห่งนี้จะเป็นฝันที่กลายเป็นจริงของชาวอินเดียส่วนใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นความทรงจำอันโหดร้ายของชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อย และยังเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความขัดแย้งทางศาสนาที่สืบย้อนไปได้ไกลหลายร้อยปี
จุดเริ่มต้นความบาดหมาง 2 ศาสนา
จุดเริ่มต้น คือ มัสยิดบาบรี โดยสร้างขึ้นเมื่อปี 1528 ตามคำสั่งของ "จักรพรรดิบาบูร์" ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของ "จักรวรรดิโมกุล" ที่ปกครองอินเดียตั้งแต่ปี 1526 จนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะล่มสลายลงหลังอังกฤษเข้ายึดครองอินเดีย ชาวฮินดู เชื่อว่า มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นบนซากปรักหักพังของวัดที่ถูกทำลายและเป็นสถานที่ประสูติของพระรามเมื่อ 7,000 ปีที่แล้ว
มัสยิดบาบรี
ซึ่งจากข้อมูล พบว่า ชาวมุสลิมและฮินดูเริ่มขัดแย้งกันในประเด็นสถานที่ตั้งของมัสยิดแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1856 ซึ่งทำให้อังกฤษต้องสร้างรั้วเป็นแนวกั้นแบ่งพื้นที่ของ 2 กลุ่มออกจากกัน
ในปี 1990 หัวหน้าพรรค BJP ขึ้นรถคาราวานเดินทาง 10,000 กิโลเมตร ข้ามตอนเหนือของอินเดียไปยังอโยธยา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างวัดพระราม หลังจากการเจรจาระหว่างกลุ่มชาวฮินดูและมุสลิมเพื่อยุติความขัดแย้งเรื่องมัสยิดบาบรีไม่เป็นผล
การตัดสินใจของ BJP ในครั้งนั้นทำให้ความบาดหมางของ 2 ศาสนา ในอินเดียยิ่งร้าวลึก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ BJP ก้าวขึ้นเป็นพรรคการเมืองที่โด่งดังในระดับชาติ ขณะที่กระแสชาตินิยมฮินดูเรื่องการสร้างวัดพระรามที่ถูกจุดขึ้นในสังคมอินเดีย นำไปสู่การประท้วงรุนแรงและเหตุจลาจลหลายครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน
แม้ชาวฮินดูบางกลุ่มจะพยายามทำลายมัสยิดบาบรีหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งในวันที่ 6 ธ.ค.1992 นักเคลื่อนไหวที่คาดว่ามีมากถึง 200,000 คน บุกทุบทำลายมัสยิด ซึ่งเหตุการณ์นี้จุดชนวนให้เกิดการจลาจลในหลายเมืองทั่วอินเดีย และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 2,000 คนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
6 ธ.ค.1992 นักเคลื่อนไหวบุกทุบทำลายมัสยิดบาบรี
การแย่งชิงพื้นที่ดังกล่าวยุติลงในปี 2019 หลังจากศาลสูงสุดอินเดียตัดสินให้พื้นที่พิพาทตกเป็นของชาวฮินดู และให้มีการสร้างมัสยิดแห่งใหม่ห่างจากจุดเดิม 25 กิโลเมตร ขณะที่ในปีถัดมา จึงได้เริ่มมีการสร้างวัดพระรามขึ้นในที่สุด
แกนนำกลุ่มมุสลิมที่ดูแลโครงการสร้างมัสยิด คาดการณ์ว่า จะเริ่มสร้างมัสยิดแห่งใหม่ในเมืองอโยธยาได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ และแม้ว่าผู้คนจะหวังให้ความขัดแย้งระหว่างศาสนายุติลง แต่ชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งยังคงกังวลถึงนโยบายของรัฐบาลอินเดีย
เมื่อเดือนที่แล้ว ศาลอินเดียรับคำร้องพิจารณาคดี ที่ชาวฮินดูเรียกร้องสิทธิในการเข้าใช้สถานที่ในมัสยิดที่เมืองพาราณสี ซึ่งสร้างขึ้นสมัยจักรวรรดิโมกุล รวมทั้งเรียกร้องให้มีการสร้างวัดภายในสถานที่ดังกล่าวด้วย หลังจากเชื่อว่า มัสยิดแห่งนี้สร้างทับที่วัดฮินดูในอดีต กลุ่มชาตินิยมฮินดูเตรียมใช้เครื่องมือทางกฎหมาย เพื่อทวงคืนพื้นที่สร้างวัด ซึ่งอาจกระทบกับมัสยิดหลายพันแห่งทั่วอินเดีย
อ่านข่าวอื่น :