ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง 31 ม.ค.67

การเมือง
25 ธ.ค. 66
15:02
1,617
Logo Thai PBS
ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง 31 ม.ค.67
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง วันที่ 31 ม.ค.67 เวลา 14.00 น. ขณะที่ "ชัยธวัช" มั่นใจเสนอแก้ ม.112 เป็นไปตามขั้นตอน ไม่มีทางนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้

วันนี้ (25 ธ.ค.2566) ศาลรัฐธรรมนูญ ไต่สวนพยาน 2 ปาก คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายชัยธวัช ตุลาธน ในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษตร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา ขณะที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้เป็นนโยบายหาเสียง

ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยทั้งสองคนได้ตอบข้อซักถามของศาล และคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน

ศาลนัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 31 ม.ค.2567 เวลา 09.30 น. กับนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 14.00 น.

ขณะที่นายชัยธวัช หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะเลขาธิการพรรคก้าวไกลขณะนั้น กล่าวภายหลังการเข้ารับการไต่สวน ว่า การไต่สวนผ่านไปได้ด้วยดี เรายังมั่นใจ ทำด้วยข้อเท็จจริงของกฎหมายและเจตนาสามารถชี้ได้ว่า ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง

นายชัยธวัช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้ทำคำชี้แจงในประเด็นสำคัญแล้ว โดยวันนี้เป็นการตอบคำถามประเด็นที่ทางตุลาการต้องการซักถามเพิ่มเติม ซึ่งคำถามในวันนี้มีความหลากหลาย แต่ไม่สามารถพูดได้ทั้งหมด เพราะระหว่างไต่สวนนายพิธากับตนเองไม่ได้อยู่ในห้องเดียวกัน โดยศาลนัดฟังคำวินิจฉัยวันที่ 31 ม.ค.2567

เรายังเชื่อมั่นเหมือนเดิมว่า การเสนอร่างกฎหมายใช้กระบวนการยุติธรรมในการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับหมิ่นประมาท และทุก ๆ กฎหมาย มั่นใจว่าไม่สามารถนำไปสู่การทำลายระบบการปกครองได้ เพราะการเสนอร่างใด ๆ มีกระบวนการทำงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวาระที่ 1, 2 หรือ 3 ซึ่งต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ของสภา

นายชัยธวัช กล่าวว่า นอกจากใช้เสียงส่วนใหญ่ในสภาแล้ว ยังต้องใช้คณะกรรมาธิการที่จะพิจารณาคัดกรองเนื้อหา อีกทั้งยังมีกระบวนการการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ร่างกฎหมายผ่านสภา ก่อนที่จะประกาศใช้ หรือหลังประกาศใช้ไปแล้วก็สามารถตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ ไม่มีทางที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้

ขณะที่นายพิธายังความมั่นใจ หลังจากที่ได้ชี้แจงในชั้นการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ โดยบอกการไต่สวนเป็นไปด้วยความราบรื่นดี และพอใจในการแถลงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และข้อสงสัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายในการชี้แจงทั้ง 2 คดี ที่มั่นใจในข้อเท็จจริงหลายเรื่อง ยืนยันว่าเป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติตามที่ได้มีการหาเสียงเอาไว้ ไม่ได้มีเจตนาหรือการกระทำใดที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง

นายพิธา ระบุว่า ไม่ว่าผลวินิจฉัยออกมาอย่างไร จะเป็นคุณหรือเป็นโทษ ก็ยังทำงานกับพรรคก้าวไกลต่อไป ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง แต่หากผลวินิจฉัยเป็นคุณก็จะได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ สส. ส่วนบทบาทในพรรคก้าวไกลรอความชัดเจนในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีช่วงเดือน เม.ย.2567 ทั้งนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไรจะต้องรอผลคำวินิจฉัยของศาลก่อน ส่วนจะส่งผลอย่างไรต่อจุดยืนพรรค และ สส. เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน

ในตอนยื่นปี 2564 บริบทของการเมืองขณะนั้นมีการใช้ความรุนแรงและมีคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้นจากหลักสิบเป็นหลักร้อย หรือจำนวน 268 คดีในปี 2563 และมีการดำเนินคดีกับเยาวชน 20 คนในปี 2564 พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่าการเสนอแก้กฎหมายเป็นทางสายกลางและเป็นทางออกทางการเมืองในขณะนั้น เพราะฉะนั้นในแต่ละเรื่องแต่ละเวลาจะต้องดูว่าสิ่งสำคัญในระบบยุติธรรมจะต้องได้สัดส่วน เมื่อมีการละเมิดเสรีภาพกับการลงโทษก็ต้องให้ได้สัดส่วน และพื้นที่ที่ดีที่สุดคือรัฐสภา

นายพิธา ปฏิเสธที่จะประเมินว่าจะได้กลับมาทำหน้าที่ สส.กี่เปอร์เซ็น เพียงแต่บอกว่าพอใจกับการชี้แจง ซึ่งทำเต็มที่แล้ว ไม่มีอะไรต้องการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม โดยจะรอคำพิพากษาทั้ง 2 คำร้อง ในวันที่ 24 ม.ค. และวันที่ 31 ม.ค.2567

อ่านข่าวอื่นๆ

ศาลจำคุกตลอดชีวิต "เสี่ยแป้ง นาโหนด" กับพวก คดีพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน

"วิษณุ"ชี้ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านไม่ผ่านวาระแรก รบ.ต้อง "ยุบสภา-ลาออก" เพื่อรับผิดชอบ

"รวมไทยสร้างชาติ" แถลงจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไม่แตะ หมวด 1-2

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง