วันนี้ (19 ธ.ค.2566) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงข้อสงสัยหลังถูกร้องเรียนประเด็นการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค ทำให้ค่าบริการแพงขึ้น คุณภาพสัญญาณและการบริการแย่ลง
เงื่อนไขหลังการควบรวมบริษัททรูและดีแทค ที่ผ่านมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของลูกค้า หรือผู้ใช้บริการ ยังไม่มีการวัดผลอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ทั้งการตรวจสอบว่าบริษัทใหม่คงสัญญาการให้บริการ ราคาเฉลี่ยค่าบริการต้องลดลงร้อยละ 12 ใน 3 เดือน ขณะที่ กสทช.ต้องจ้างที่ปรึกษามาควบคุมราคาตามต้นทุน ขณะเดียวกันต้องรักษาคุณภาพสัญญาณ และเพิ่มความครอบคลุม 5G
สำนักงาน กสทช. ระบุว่าคำชี้แจงทรูยืนยันว่า การให้บริการยังคงยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขภายหลังการควบรวมทรู-ดีแทคมาโดยตลอด แต่ปัญหาอาจเกิดจากการสื่อสารที่ออกไปทางสาธารณะ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด แต่สังเกตได้ว่า คำชี้แจงของสำนักงาน กสทช.ในวันนี้ เป็นการให้ข้อมูลตามที่บริษัททรูรายงานมาต่อ กสทช. ไม่ใช่การตรวจสอบของ กสทช.เอง
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการฯ และรองเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า เงื่อนไขอย่างหนึ่ง คือ ทางบริษัทต้องส่งการดำเนินงานภายหลัง 6 เดือนที่ได้ควบรวม โดยควบรวมเมื่อ 1 มี.ค. จึงครบ 6 เดือน คือ 30 ก.ย. ระหว่างทางสำนักงานได้ประสานกับผู้ประกอบการมาโดยตลอด ทั้งเรื่องค่าบริการ และเรื่องอื่น ๆ แต่หลังจาก 30 ก.ย.แล้ว ระยะเวลา 1 เดือน บริษัทได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ต้องส่งให้ กสทช.พิจารณา ซึ่งทรูได้ส่งมาเป็นทางการ 6 พ.ย. หรือประมาณ 30 วัน
ตามขั้นตอนต้องผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ก่อนเข้าที่ประชุมบอร์ด แต่เกิดปัญหาบอร์ดครบวาระเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้การทำงานขาดตอน ไม่สามารถเดินเรื่องส่งต่อให้บอร์ด กสทช.ได้ นำมาสู่ข้อเรียกร้องของบอร์ด กสทช. 4 คน ที่ต้องการให้นำประเด็นปัญหาข้อร้องเรียนคุณภาพการบริการหลังควบรวมกิจการ และการต่ออายุคณะอนุกรรมการติดตามปัญหา
ส่วนกรณีข้อร้องเรียนว่าแพคเกจราคาประหยัด 299 บาทต่อเดือนหายไป รักษาการเลขาธิการฯ กสทช. ชี้แจงว่า ได้สอบถามบริษัทและพบว่ายังคงมีแพคเกจนี้ แต่มีการนำเสนอแพคเกจใหม่ที่เฉลี่ยค่าบริการต่อหน่วยถูกลง และลูกค้าใหม่ไม่ได้สอบถามถึงแพคเกจดังกล่าว
ขณะที่นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะ 101 PUB ที่ทำวิจัยการให้บริการหลังทรู-ดีแทคควบรวมกิจการ ประเมินการทำงานของสำนักงาน กสทช. ว่า ยังต้องเพิ่มความเข้มข้นในบางส่วน
คิดว่าสำนักงานยังทำงานตรงนี้ได้ไม่มากพอ ขาหนึ่งการคิดค่าบริการว่าต้องลดลงเพียงใด ใช้ข้อมูลจากผู้ควบรวมเป็นหลัก ไม่ได้มีข้อมูลจากผู้บริโภค หรือผู้ใช้งานจริง หรือการสำรวจตลาด
นักวิชาการ ยังมองว่าการไม่ได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อควบคุมราคาตามต้นทุน หลังการควบรวมภายใน 1 เดือนตามข้อตกลง ทำให้ผู้ใช้บริการเสียโอกาสมาโดยตลอด ขณะเดียวกันเป้าหมายของ กสทช.ควรเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
อ่านข่าวอื่นๆ
"ขังนอกคุก" เบื้องหลัง บิ๊กราชทัณฑ์ VS Mastermind ชั้น 14
นักวิชาการตั้งเป้าลดอุบัติเหตุปี 2570 เหลือตาย 12 : 1 แสนคน
มาแรง! ปี 67 "ธุรกิจสายมู- Soft Power" ทำเงินสะพัดกว่าแสนล้าน