ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“คลินิกสุจริต” โมเดลตัดทุจริตที่ต้นทาง ป.ป.ช.ขอนแก่น

ภูมิภาค
18 ธ.ค. 66
19:15
553
Logo Thai PBS
“คลินิกสุจริต” โมเดลตัดทุจริตที่ต้นทาง ป.ป.ช.ขอนแก่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ป.ป.ช.ขอนแก่น เปิดรับฟังความเห็นหลายภาคส่วน จัดทำแผนป้องปรามปัญหาทุจริต โครงการอาหารกลางวัน นมโรงเรียน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยใช้โมเดล “คลินิกสุจริต” เฝ้าระวังและให้คำปรึกษา จนท.รัฐ เพื่อลดคดีทุจริตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

กรณี "ครูชัยยศ" ถูกปลดจากราชการ หลังร่วมลงชื่อตรวจรับอาหารกลางวัน ที่เกลี่ยงบประมาณเพื่อให้นักเรียนที่ยากจนระดับ ม.ต้น ได้กินอย่างทั่วถึง ก่อนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เจ้าตัวยืนยันไม่ได้กระทำการทุจริต และจะทำหน้าที่ครูอาสาต่อไป เรื่องนี้ได้รับความสนใจและเป็นข้อถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง

ล่าสุดที่ จ.ขอนแก่น ตัวแทนครู และผู้บริหารสถานศึกษาได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนสะท้อนปัญหา ที่ครูต้องทำงานจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งที่ยังไม่เข้าใจระเบียบกฎหมาย พวกเขามองว่า ครูชัยยศ ไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่ต้องถูกปลดจากราชการ เพราะมีครูหลายคนที่เสี่ยงถูกดำเนินคดี และมีครูและผู้อำนวยการโรงเรียนกำลังถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากในคดีทุจริตสนามฟุตซอล

จาก "ครูชัยยศ" สู่เสียงสะท้อนปัญหาทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง

การที่ครูหรือข้าราชการแม้เพียง 1 คน ต้องถูกดำเนินคดี หรือถูกปลดจากราชการ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตัวเขาและครอบครัว แต่ยังเป็นความสูญเสียของภาครัฐ เพราะรัฐต้องลงทุนทั้งงบประมาณและเวลา กว่าจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพ แต่หลายครั้งที่การจัดซื้อจัดจ้างผิดระเบียบ แม้ขาดเจตนาทุจริต กระทำไปเพราะอิทธิพลนักการเมืองหรือผู้บังคับบัญชา ก็ทำให้หลายคนต้องถูกดำเนินคดี

นายธีรัตน์ บางเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ขอนแก่น กล่าว

ก่อนเปิดการประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อจัดทำแผนและแนวทางขับเคลื่อน ป้องปรามเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตในพื้นที่ ประเด็น "โครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน" โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ เขต 4 คลังจังหวัดขอนแก่น ท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตฯ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1-5 รวมทั้งธรรมาภิบาลฯ และสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ร่วมหารือในครั้งนี้

ตัวแทนครูและผู้บริหารโรงเรียน ให้ข้อมูลว่า

ครูส่วนใหญ่อยากทำหน้าที่สอนให้ดีที่สุด และอยากให้มีครูธุรการประจำทุกโรงเรียนเพื่อทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างโดยตรง เพราะครูหลายคนจำใจทำ โดยเฉพาะครูบรรจุใหม่หลายคนบอกว่าอยากลาออก เพราะต้องทำทั้งที่ไม่เข้าใจกฎหมาย และระเบียบ

ด้านครูโรงเรียนขนาดเล็ก ก็สะท้อนว่าต้องแบกภาระโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งงบประมาณไม่เพียงพอ ครูต้องจ่ายตลาดเอง ทำอาหารเอง ในโรงเรียนขยายโอกาส ครูอยากให้เด็ก ม.ต้นได้กินด้วยเพราะมีแต่เด็กยากจน แต่ระเบียบทำไม่ได้ ส่วนโครงการนมโรงเรียน ยังพบปัญหานมบูด เด็กไม่กินนม ครูต้องเทนมทิ้ง และหลายครั้งการส่งนมถุงก็ได้ไม่ครบ แต่ครูไม่อยากมีปัญหาหาก็ต้องเซ็นตรวจรับ

ทางโรงเรียนอยากให้มีการตรวจสอบคุณภาพการผลิต ซึ่งมีสำนักงานปศุสัตว์เขตเป็นผู้ดูแล รวมทั้งตรวจสอบการขนส่งนม และดูว่าผู้ประกอบการว่าทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างไร จำนวนนักเรียนตรงตามจริงหรือไม่ และการดำเนินการเป็นไปตามสัญญาหรือไม่

การระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนและแนวทางในการขับเคลื่อน เพื่อป้องปรามเฝ้าระวังปัญหาการทุจริต ประเด็น "โครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน" ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดโอกาสและช่องโหว่การทุจริตงบประมาณ ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ขอนแก่น จะขับเคลื่อนประเด็นนี้สู่การปฏิบัติ ลงพื้นที่จริง ป้องปรามจริง เพื่อนำผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

 ข้อสรุปของจากการหารือในครั้งนี้คือ

1.หน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนและขอเข้าร่วมการลงพื้นที่ป้องปรามเพื่อขจัดปัญหาการทุจริต "โครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน" ในระดับพื้นที่

2. นำผลกิจกรรมการระดมความเห็นไปต่อยอดสู่ระดับหน่วยงาน และผู้บริหารของโรงเรียน พร้อมขับเคลื่อน และนำระบบโปรแกรม Thai School Lunch for MBA ซึ่งกรุงเทพมหานครได้พัฒนาต่อจาก Thai School Lunch ของ สพฐ. เป็นระบบที่สามารถตรวจสอบเมนูอาหาร คำนวณวัตถุดิบที่ใช้ผลิต คุณค่าทางโภชนาการ

ที่สำคัญ ทาง กทม. ยังมีระบบรายงานผลผ่านแอปพลิเคชัน ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันของทุกโรงเรียนในสังกัด กทม. ตั้งแต่ขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง มีข้อมูลคู่สัญญา วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ทุกคนสามารถเข้าไปดูระบบ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง การประกอบอาหาร และส่งมอบ ซึ่งมีครูเป็นผู้ตรวจรับ โดยที่ระบบนี้ผู้ปกครองสามารถเห็นอาหารที่ลูกกินในทุกๆวัน

3.ให้มีการบริหารจัดการขนส่งนมโรงเรียน (pasteurized milk) ถึงมือผู้บริโภค เป็นไปตามกรอบเวลา และสดใหม่พร้อมทาน ครูผู้ทำหน้าที่ตรวจรับต้องตรวจสอบทั้งจำนวนนม ความเย็นของรถที่ใช้ขนส่ง ไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมินมไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำแข็งและถังเก็บนมจะต้องตรงตามสัญญา หากมีปัญหาต้องรีบแจ้งผู้ประกอบการให้แก้ไข

4.ป.ป.ช.จะให้คำแนะนำความรู้ด้านระเบียบ และกฎหมายกับบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการจัดตั้ง "คลินิกสุจริต" 

ข้อเสนอในการหารือครั้งนี้ ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และปัญหาทุจริตเชิงนโยบาย ทุกภาคส่วนจึงอยากเห็นเครื่องมือการแก้ปัญหาทุจริตที่เห็นผลจริงทั้งในด้านการป้องปรามและปราบปราม

คลินิกสุจริต จ.ขอนแก่น แก้ปัญหาจัดซื้อจัดจ้าง

ก่อนหน้านี้ (พ.ย.2566) นายธีรัตน์ บางเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ขอนแก่น และกลุ่มงานป้องกันการทุจริต ประชุมหารือจัดตั้งคณะทำงาน “คลินิกสุจริต” จ.ขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานคลังจังหวัดขอนแก่น สำนักงานจังหวัดขอนแก่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 4 โดยมีวัตถุประสงค์ให้คำปรึกษาแนะนำ การใช้จ่ายงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐให้ถูกต้องตามระเบียบ และ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ทั้งนี้ทางสำนักงานคลังจังหวัด จะนำรายชื่อผู้แทนหน่วยงานที่จะเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน “คลินิกสุจริต” และเสนอรายชื่อแต่งตั้งคณะทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน และเริ่มดำเนินโครงการ

สำหรับ "คลินิกสุจริต" มีเครื่องมือการทำงาน โดยเริ่มเปิดให้คำปรึกษาผ่านช่องทาง application line หรือ ไลน์กลุ่ม “คลินิกสุจริต จ.ขอนแก่น” ที่ข้าราชการทั้งส่วนท้องถิ่น และส่วนภูมิภาค ที่มีหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง สามารถเข้าร่วมแจ้งข้อมูล และขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ

คาดว่าในต้นปี 2567 "คลินิกสุจริต" จะเริ่มเปิดอบรมให้ความรู้กับกลุ่มช่าง ของ อปท. ใน จ.ขอนแก่นเป็นกลุ่มแรก เพื่อสามารถคำนวณราคาก่อสร้าง นำไปสู่การกำหนดราคากลาง ทำร่างขอบเขตงานหรือ ทีโออาร์ อย่างรอบคอบและรวดเร็ว ช่วยลดการร้องเรียนหรืออุทธรณ์ ซึ่งนำไปสู่การดำเนินโครงการที่ล่าช้า กระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ

คลินิกสุจริต โมเดลแก้ปัญหาทุจริตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ 

การทำ “คลินิกสุจริต” เกิดจากแนวคิดและประสบการณ์ของนายธีรัตน์ บางเพ็ชร ที่เริ่มต้นครั้งแรก เมื่อเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.สกลนคร ปี 2563 เขาใช้โมเดลนี้ เพื่อลดคดีทุจริตตั้งแต่ต้นทาง หรือ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและดำเนินโครงการของภาครัฐ

1.ต้นน้ำ คือ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างเริ่มกำหนดราคากลาง ขอบเขตงาน ทีโออาร์ ประกาศเชิญชวน สามารถดำเนินการอย่างถูกต้อง เข้าใจระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามในไลน์กลุ่ม ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ คลังจังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ให้คำแนะนำ ลดปัญหาการอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้าง

ที่สำคัญคือมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. ที่แม้เป็นฝ่ายดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด แต่จะมาร่วมให้คำแนะนำตั้งแต่ขั้นตอนแรก ให้ความรู้เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดด้วยภาวะจำยอม ทั้งการโต้แย้งของผู้บังคับบัญชาจากคำสั่งที่ไม่ชอบ และการกันพยาน หรือคุ้มครองพยาน

2.กลางน้ำ คือ การบริหารสัญญา ถ้าต้นน้ำทำได้ถูกต้อง ไม่มีการเอื้อประโยชน์ ลดปัญหาการฮั้วประมูล จะเข้าสู่ขั้นตอนการบริหารสัญญา การควบคุมงาน และการตรวจรับ หากระหว่างการดำเนินการตรวจรับ เจ้าหน้าที่เจอปัญหา สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำผิดและถูกดำเนินคดี

3.ปลายน้ำ การดำเนินโครงการแล้วเสร็จ หากพบกระทำความผิดสำเร็จ ความเสียหายเกิดขึ้น หลังส่งมอบงานแล้วเสร็จ ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ เพื่อนำไปสู่การปราบปรามหรือทำคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. จะมีข้อมูลเพื่อใช้ทำคดี ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ชัดเจน และมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นพยานอีกด้วย

นายธีรัตน์ ระบุว่า คลินิกสุจริตจะช่วยลดคดีทุจริต ทำให้การดำเนินโครงการไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของภาครัฐ และเป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่จัดซื้อจัดจ้างไม่ให้ถูกดำเนินคดี ถือเป็นเครื่องมือการทำงานที่ได้ทั้งเชิงป้องกันและปราบปราม งานทั้ง 2 ส่วนของ ป.ป.ช.จะสอดรับ และหนุนเสริมกันอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

นี่คือการสร้างเซฟโซน (Safe Zone)ในการทำงาน เป็นเกราะป้องกันข้าราชการ เพราะหากปล่อยให้มีการทำความผิด หรือทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง อาหารกลางวัน และนมโรงเรียน บทบาทของ ป.ป.ช. ที่ต้องไปไต่สวน ดำเนินคดีข้าราชการ จะกลายเป็น " คิลลิ่งโซนทันที ( killing zone) แม้ผลลัพธ์จะสามารถเอาผิดข้าราชการได้ แต่ก็ไม่อาจยับยั้งความสูญเสียได้

ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจ จ.ขอนแก่น กล่าว และย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก คือ การทุจริตที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่ไม่อาจเรียกคืนได้ แต่หากสามารถป้องกัน หรือป้องปรามไม่ให้เกิด หรือเกิดน้อยลงได้ จะช่วยลดความเสียหาย

ซึ่งหากการทำงานของโมเดล “คลินิกสุจริต” สามารถทำได้ครอบคลุม และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน บูรณาการทำงานร่วมกัน จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะแก้ปัญหาการทุจริตได้ตั้งแต่ต้นทาง ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับสังคม เศรษฐกิจ และการดำเนินงานของภาครัฐอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง