วันนี้ (15 ธ.ค.2566) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย สินค้า GI ลำดับที่ 3 ของ จ.หนองคาย ต่อจากกล้วยตากสังคม และสับปะรด ศรีเชียงใหม่
ทั้งนี้ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย คือ ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา มีลักษณะส่วนหัวเล็ก ริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน มีลายพาดตามขวาง เมื่อปรุงสุกเนื้อมีสีขาว แน่นเป็นลิ่ม และนุ่ม จำหน่ายในรูปแบบปลานิลสดและปลานิลแดดเดียว ผลิตและแปรรูปตามภูมิปัญญาของชุมชน

ครอบคลุมเขตพื้นที่ 6 อำเภอของหนองคาย ที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ได้แก่ อ.สังคม อ. ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.เมืองหนองคาย อ.โพนพิสัย และอ.รัตนวาปี ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ มีคุ้งน้ำกว้าง ท้องน้ำเป็นทราย มีโขดหินทำให้การไหลผ่านของน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงจังหวัดหนองคายเป็นการไหล แบบเอื่อยๆ ตลอดเวลา ช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้เหมาะสมกับการเลี้ยงปลานิล ทำให้ปลานิลมีสุขภาพดี
จากการว่ายน้ำตลอดเวลา ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงซึ่งมีแร่ธาตุในดิน และเป็นน้ำที่มี ความสะอาด ส่งผลให้ ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย ที่เลี้ยงในกระชังจึงไม่มีกลิ่นเหม็นคาว และไม่มีกลิ่นโคลน เนื้อแน่น นุ่ม เนื่องจากมีไขมันแทรก

“ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย”
“ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย”
นายวุฒิไกร กล่าวอีกว่า ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในจังหวัดหนองคายรวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ถือเป็นสินค้าด้านการเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดหนองคายและเกษตรกรในชุมชนกว่า 540 ล้านบาทต่อปี
อ่านข่าว:
ร้านหมูย่าง-ไก่ย่าง เตรียมใช้ "โอ่ง"แทน "เตา" แก้ปัญหา PM2.5
แรงงาน-นายจ้าง ยิ้มไม่ออก ! ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 บาท "ดีกว่าไม่ได้"