นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าไฟที่จะปรับขึ้นงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ที่ 4.68 บาท/หน่วย เป็นราคาที่สูงมากเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ส่งผลกระทบกับกลุ่มอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งที่ใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ที่มีสัดส่วนพลังงานประมาณร้อยละ 30-50 ของต้นทุน
ดังนั้นต้นทุนค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่วนใหญ่ปรับขึ้นร้อยละ 5-10 และตลาดโลกที่ยังเปราะบางจากภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลต่อกำลังซื้อ หากสินค้าไทยต้นทุนสูงจะทำให้การส่งออกรวมทั้งการแข่งขันยากขึ้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ดังนั้น อยากขอให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางระยะสั้นตรึงราคาเดิมที่ 3.99 บาท/หน่วยไว้ก่อน จากนั้นในช่วงต้นปี 2567 เร่งจัดตั้งกรอ.พลังงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียมาเจรจาหาแนวทางที่เหมาะสม และปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบให้แก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าได้อย่างถาวร ซึ่งจะเป็นจุดแข็งในกับประเทศในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ให้ปรับขึ้นค่าไฟมาที่ 4.20 บาทก็ยังสูงขึ้นจากเดิม ซึ่งเป็นการปรับขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวดี โดยเห็นว่าค่าไฟที่เหมาะสมน่าจะอยู่ในช่วง 2.70-3.30 บาท/หน่วย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร.
ส่วนการประเมินเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8-3.3 และมีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้น้อยกว่าร้อยละ 3 ซึ่งเป็นระดับศักยภาพเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เนื่องจากเผชิญปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอ ตัว และปัจจัยความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs รวมถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อใน ระบบจากการเริ่มใช้มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เน้นเรื่องวินัยการไม่สร้าง หนี้เกินกำลัง รวมถึงการกลับมาจัดชั้นคุณภาพหนี้ตามปกติหลังยุคโควิด-19
ไทยยังมีความท้าทายจากศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ ลดลงและ เผชิญกับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และการก้าวสู่ low carbon society ไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเน้นไปที่การเร่งเจรจา FTA ดึงดูดการลงทุนในยุค Decoupling การดูแลต้นทุนราคาพลังงานควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพให้เกิดความสมดุล
อ่านข่าว:"กล้วยหอมทองเสิงสาง" รุกตลาดเอเซีย ญี่ปุ่นสั่งซื้อ 5,000 ตัน
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตได้น้อยกว่าที่คาด 9 เดือนแรกเติบโตได้เพียงร้อยละ 1.9 การส่งออกยังชะลอตัวตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะจีน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวอย่างต่อเนื่องและชะลอการผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลัง
นอกจากนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 28 ล้านคน แทนที่จะเป็นราว 30 ล้านคน การใช้จ่ายต่อหัวก็ลดลงเหลือเพียง 4.30 หมื่นบาท จากที่เคยประมาณการ 4.55 หมื่นบาท
ปัจจัยบวกสำหรับปี 2567 เช่น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 33 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านคนจากปี 2566 ทั้งนี้ หากนโยบายเติมเงินใน digital wallet ดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้อีกอย่างน้อยร้อยละ 1-1.5
ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาความเปราะบางในประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่พบว่าหนี้เสีย (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสินเชื่อรถยนต์ ข้อมูลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 5 ธ.ค. 2566 มีประชาชนลงทะเบียนจำนวน 62,030 ราย รวมมูลหนี้ 2,793.29 ล้านบาท เป็นการเริ่มต้นที่ดีเพราะจะได้เห็นข้อมูลพื้นฐานของหนี้นอกระบบ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการบังคับใช้กฎหมายโดยภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม กกร.มองว่าการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต้องผลักดันให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ด้วยการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
อ่านข่าว:เศรษฐกิจส่อฟื้น กนง.มติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50%
กกพ. เคาะขึ้นค่าไฟ งวด ม.ค.-เม.ย.67 อยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย