วันนี้ (24 พ.ย.2566) ผู้สื่อข่าวรายงาน 2 นักวิจัยไทยจากจุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย ดร.สุจารี บุรีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย นายอานุภาพ พานิชผล นักวิจัยจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ได้เดินทางไปอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ)
ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของมูลนิธิเทคโนโลยีสาร สนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โครงการดังกล่าว นักวิจัยไทยได้ร่วมกับคณะสำรวจอาร์กติกจากประเทศจีนรุ่นที่ 13 เป็นเวลา 3 เดือน เดินทางโดยเรือตัดน้ำแข็ง “ซูหลง 2” ของประเทศจีน ซึ่งในปีนี้ เป็นปีแรกที่คณะสำรวจของประเทศจีน สามารถเดินทางไปถึงจุดที่เป็นขั้วโลกเหนือ ณ ละติจูด 90 องศาได้สำเร็จ
การเดินทางดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าน้ำแข็งขั้วโลกบางลงกว่าปีก่อนๆ มากเนื่องจากน้ำแข็งที่หายไปสามารถคืนกลับมาได้น้อยลง ทำให้เรือตัดน้ำแข็งสามารถเดินทางเข้าไปสู่จุดที่เป็นขั้วโลกเหนือได้ไม่ยากนัก
เรือ “ซูหลง
ในระหว่างการเดินทาง นักวิจัยจากประเทศจีน รัสเซีย และไทย รวม 100 ชีวิตในเรือตัดน้ำแข็ง ร่วมกันสำรวจวิจัยทางสมุทรศาสตร์ เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ขั้วโลกเหนือ
โดยได้มีการเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำทะเล ดินตะกอน แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์ทะเลบางชนิด เพื่อตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันเปรียบเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างทางนักวิจัยยังได้เห็นหมีขาว วอลรัส และวาฬนำร่อง ซึ่งสัตว์เหล่านี้อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่น้ำแข็งละลายอีกด้วย
อ่านข่าว "ต่อหัวเสือ" วายร้ายตัวจิ๋ว ยังสยบโลกร้อน วงจรชีวิตเปลี่ยน
ศึกษาไมโครพลาสติก-อาร์กติก
ดร.สุจารี บอกว่า การเดินทางไปครั้งนี้ นอกจากจะศึกษาไมโครพลาสติกที่สะสมในมวลน้ำ ดินตะกอน และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรอาร์กติกแล้ว ยังมีการศึกษาถึง การหมุนเวียนสารอาหาร และฟลักซ์คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองทางชีวธรณีเคมีต่อการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรอาร์กติกในภาวะโลกร้อน
ส่วนนายอานุภาพ กล่าวว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี จากการไปสำรวจพบว่าความหนาของน้ำแข็งใหม่ในรอบปีมีความหนาที่ลดลง
ส่วนในเรื่องของมลพิษในทะเล เช่นการสะสมของไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำทะเล และในอากาศบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
อ่านข่าว มาแล้ว! "เอลนีโญ" พีคสุด พ.ย.-ม.ค.67 ฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 14%
2 นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจอาร์กติก
สัญญาณเตือนน้ำแข็งขั้วโลกละลาย
ด้านศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ นักวิจัยไทยคนแรก ผู้เปิดประตูสู่งานวิจัยสภาพภูมิอากาศขั้วโลก ที่มีโอกาสเดินทางไปที่แอนตาร์กติก และอาร์กติกหลายครั้ง ระบุว่า การที่เรือตัดน้ำแข็งของประเทศจีน เดินทางเข้าถึงจุดที่เป็นขั้วโลกเหนือได้เป็นครั้งแรก และไม่ยาก แสดงให้เห็นว่าบริเวณขั้วโลก มีการสะสมของก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้น้ำแข็งละลาย ส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลก เสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกว่า ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จะขยายขอบเขตมากขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้น
หมีขาวขั้วโลก ภาพโดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
ทั้งนี้ในช่วงเดือนม.ค.2567 โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริฯ จะมีการส่งนักวิจัยอีกสองท่านนำโดย สพ.ญ.ดร.คมเคียว พิณพิมาย จากสถาบันวิจัยทรัพ ยากรทางน้ำ และ รศ.ดร.ภศิชา ไชยแก้ว จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เดินทางไปพร้อมกับคณะสำรวจแอนตาร์กติกรุ่นที่ 40
ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องในการศึกษาถึงผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และไมโครพาสติกที่มีต่อระบบนิเวศที่แอนตาร์กติก ศึกษาความเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปริมาณคาร์บอนในดิน รวมทั้งศึกษาการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จากดินบริเวณขั้วโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือของนักวิจัยไทย กับประเทศจีน ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าว
นักวิจัยไทย พบน้ำทะเล "ขั้วโลกเหนือ" อุ่นขึ้น 5 องศาฯ