ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แกะรอยเส้นทาง "ขอทานจีน" ในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ

สังคม
22 พ.ย. 66
17:59
2,254
Logo Thai PBS
แกะรอยเส้นทาง  "ขอทานจีน" ในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ปี 2565 ไทยถูกปรับสถานะข้อมูลการค้ามนุษย์ หรือ Tip Report ให้ดีขึ้น จากเดิมในระดับ เทียร์ 2 ที่ต้องถูกจับตามอง (Tier 2 Watch List) ขึ้นมาเป็นสถานะเทียร์ 2 (Tier 2) คือไม่ถูกเฝ้าจับตา จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

ปี 2566 ไทยอยู่ระหว่างรวบรวมทำรายงาน Tip Report หรือการส่งรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้กับหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

และภายในปี 2567 ไทยจะเสนอรายงานข้อมูลการค้ามนุษย์หรือ Tip Report ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป 

แม้ปัจจุบันไทยจะไม่ถูกจับตาและอยู่ในระดับเทียร์ 2 แล้วก็ตาม แต่กลับต้องเผชิญปัญหาค้ามนุษย์ และขอทานข้ามชาติ ทำให้การเลื่อนสถานะกลับไปเทียร์ 1 อาจไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะปัญหา “ขอทานจีน” ที่แฝงเข้ามา โดยถือวีซานักเรียนและนักศึกษาไทย

ขอทานจีน”ปัญหาใหม่”ส่อโยงขบวนการค้ามนุษย์

แม้ไทยจะมีพ.ร.บ.ควบคุมขอทาน พ.ศ.2559 บังคับใช้ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เคยมีความพยายามเดินหน้าจัดระเบียบขอทานโดยใช้กฎหมายควบคุม แต่ยังแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้

ข้อมูลจากกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพ ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนขอทาน 7,151 คน เป็นขอทานชาวไทย 4,678 คน ชาวต่างชาติ 2,473 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชาและเมียนมา ที่เหลือเป็นชาวจีน 68 คน เข้ามาขอทานในประเทศไทย ในรูปแบบของขบวนการขอทาน ในลักษณะการค้ามนุษย์รูปแบบการแสวงหาผลประโยชน์

พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยังไม่ฟันธงว่า ขอทานข้ามชาติชาวจีน ที่จับกุมได้เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ แต่พบว่าตั้งแต่วันที่ 10-20 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการจับคนจีนที่เข้ามาประกอบอาชีพขอทานแล้ว 6 คน และนำตัวไปเปรียบเทียบปรับไป 3 คน จำนวนนี้ ตม. ผลักดันออกนอกประเทศ 1 คน ส่วนที่เหลือควบคุมตัวไว้สอบสวนอยู่ที่ห้องกักของ ตม.

เบื้องต้นทั้งหมดการในลักษณะเตรียมกันมาว่าบาดแผลบนใบหน้า และร่างกายเกิดจากอุบัติเหตุไฟไหม้ที่ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะถูก ตม.ขึ้นแบล็ก ลิสต์ และห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย 10 ปี

ผลการสอบสวนพบจุดเชื่อมโยงกันของขอทานจีนทั้ง 6 คน พบว่าบางคนใช้ล่ามแปลภาษาเป็นชาวไทยคนเดียวกัน และมี 2 คน พักอยู่ด้วยกันที่โรงแรมย่านวังทองหลาง ส่วนที่เหลืออีก 4 คน แยกพักที่โรงแรมในเขตกทม. เบื้องต้นเชื่อว่าน่าจะทำเป็นขบวนการ โดยมีคนไทยอยู่เบื้องหลัง

พล.ต.ต.อำนาจ ยังกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบประวัติของกลุ่มบุคคลทั้งหมด พบว่า ชาวจีน 1 คน ใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ต่อมาได้ทำเรื่องขอเปลี่ยนวีซานักศึกษา เพื่อศึกษาต่อทางออนไลน์ ให้ได้สิทธิอยู่ประเทศไทยได้นานขึ้น

จากนั้นคนจีนขอทาน จะกระจายไปนั่งขอทานตามแหล่งชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว โดยอาศัยภาพลักษณ์ที่น่าสงสารเป็นจุดดึงดูดให้คนให้ทาน และขอทานได้ถึงวันละ 10,000-17,000 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาระบุชัดว่า กลุ่มขอทานจีนเกี่ยวข้องกับขบวน การค้ามนุษย์ข้ามชาติหรือไม่

แต่ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งข้อสังเกตว่า คนกลุ่มดังกล่าวอาจเป็น “เหยื่อ” ของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติเพราะการตรวจสอบพบว่า บางคนเดินทางเข้ามาด้วยพาสปอร์ตที่หมดอายุ เข้าประเทศโดยไม่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องสอบสวนขยายผลต่อว่าเข้ามาได้อย่างไร

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ธุรกิจขอทานชาว “กัมพูชา”-เมียนมา” เส้นทางเดิมในไทย

แม้ขอทานจีนจะเริ่มทะลักเข้ามาอยู่ในหลายจุดของไทย แต่อดีต-ปัจจุบันขอทานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะชาวกัมพูชาและเมียนมา คือ กลุ่มที่เข้ามาปักหลักขอทานอยู่ในหลายจังหวัดของไทย โดยใช้เด็กและผู้หญิงและคนชรา

วีกลม หรือ “ลุงวี” วัย 56 ขอทานชาวกัมพูชาหลังค่อม เดินเอาหัวลงพื้นในลักษณะเกือบ 90 องศา ที่เคยเข้ามาขอทานอยู่ในพื้นที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี และโด่งดังในติ๊กต็อก ก่อนที่คนในโลกโซเชียลจะรู้ว่า ไม่ใช่คนไทย ขอทานรายนี้เคยมีรายได้จากการขอทานถึงหลักแสนบาท

วีกลม เคยบอกว่า สาเหตุที่เข้ามาขอทานในประเทศ ไทยเพราะคนไทยใจดี แม้จะถูก ตม.ผลักดันกลับประเทศกัมพูชาถึง 4 ครั้ง พร้อมเมียและลูก แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2566 มีคนพบว่า ชายคนดังกล่าวได้กลับมาปักหลักขอทานอยู่ที่ตลาดใหม่ ชลบุรีอีกแล้ว

สำหรับชาวกัมพูชาที่เข้ามาขอทานเมืองไทย มีหลายประเภท ทั้งที่เดินทางมาคนเดียว และอพยพมาทั้งครอบครัว และจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของขบวน การค้ามนุษย์ ถูกบังคับให้ขอทาน โดยขบวนการดังกล่าวจะมีนายหน้าชาวกัมพูชาและไทยอยู่เบื้องหลัง

วีกลม หรือ “ลุงวี” วัย 56 ขอทานชาวกัมพูชาหลังค่อม เดินเอาหัวลงพื้น

วีกลม หรือ “ลุงวี” วัย 56 ขอทานชาวกัมพูชาหลังค่อม เดินเอาหัวลงพื้น

วีกลม หรือ “ลุงวี” วัย 56 ขอทานชาวกัมพูชาหลังค่อม เดินเอาหัวลงพื้น

ข้อมูลจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ระบุว่า ชาวต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยเพื่อมาขอทาน ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งของทางจะถูกบังคับให้ขอทานวันละ 8-12 ชั่วโมง หากใครเงินไม่ได้ก็อาจถูกทำร้ายทุบตี

สำหรับตัวเลขรายได้จากการขอทานขึ้นอยู่กับสถานที่ เช่น ย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ จะมีรายได้เฉลี่ยวันละ1,000-2,000 บาท ในขณะที่บางรายมีรายได้วันละ 6,000-7,000 บาทต่อวัน

ดังนั้นจึงพบว่ามีการนำเด็กเล็ก คนพิการ หรือใช้วิธีการอุ้มสุนัขมาขอทานด้วย ข้อมูลยังระบุอีกว่า นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้ว ยังมีการเช่าเด็กจากครอบครัวของชาวกัมพูชาด้วยกันเองมาขอทาน โดยปล่อยไว้ตามจุดต่างๆ ในอดีตราคาค่าเช่าเด็กเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการขอทานราคาอยู่ที่วันละ 1,500-3,000 บาท

ข้อมูลยังระบุอีกว่า เส้นทางหลักที่ขอทานกัมพูชา หรือขบวนการค้ามนุษย์ชาวกัมพูชา นำคนเข้ามามีทั้งการลักลอบผ่านเส้นทางธรรมชาติและรถโดยสาร ในพื้นที่ด้านเขตคลองลึก จ.สระแก้ว และด้านอ.คลองใหญ่ จ.ตราด

ส่วนพื้นที่ภาคเหนือที่ด้านจ.เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีขอทานจากฝั่งเมียนมา เข้ามาไม่น้อยไปกว่ากรุงเทพ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ หรือบริเวณตลาดนัด ถนนคนเดิน เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาและสวัสดิการสังคม(พส.) พบว่า มีการใช้เด็กทารกเป็นเครื่องมือในการขอทาน แม้จะมีการจับกุมและผลักดันกลับออกนอกประเทศ แต่อีกไม่นานคนกลุ่มนี้ก็จะกลับเข้ามาใหม่

แม้ที่ผ่านมาจะมีการบังคับใช้กฎหมาย จัดทำแนวทางการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 ในลักษณะแบบขั้นบันได ครั้งที่ 1 จำนวน 500 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 2,000 บาท ครั้งที่ 3 จำนวน 5,000 บาท และครั้งที่ 4 จำนวน 10,000 บาท เป็นการป้องปรามผู้ทำการขอทานให้เกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำความผิด แต่คนเหล่านี้ก็ยังย้อนกลับมา

อ่านข่าว กางสถิติขอทานไทย-ต่างด้าวพุ่งหลังโควิดปี 66 เกิน 500 คน

แหล่งท่องเที่ยว “ทำเลทอง”ธุรกิจขอทาน

นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวว่า ในปี 2561-2563 พบว่ามีขอทานจีนเข้ามา 68 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีความพิการทางร่างกาย มีประวัติเข้ามาในประเทศไทยหลายครั้งต่อปี โดยล่าสุดปี 2566 พบขอทานชายจีน 6 คน มีความพิการร่างกาย จังหวัดที่พบขอทานมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร สุรินทร์ สมุทรปราการ และปทุมธานี 

นางจตุพร กล่าวว่า ขอทานต่างด้าวที่พบส่วนใหญ่ในขณะนี้เป็นกลุ่มวัยแรงงานไม่ใช่คนแก่สูงอายุเหมือนเช่นในอดีต จากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่ถือวีซานักท่องเที่ยว โดยพม.ต้องทำงานร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และตำรวจท้องที่ ในการปราบปรามจับกุม

ขอทานเหล่านี้มักอาศัยอยู่ในย่านนักท่องเที่ยว ชุมชน ย่าน ศาลา แดง ย่านสะพานพระปิ่นเกล้า มีรายได้จากการขอทานสูงถึงวันละ 10,000 บาท

นางจตุพร บอกว่า ขอให้เข้าใจว่าอาชีพขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศ ไทย และไม่ควรให้การช่วยเหลือโดยการให้เงิน แต่ควรเน้นเรื่องของการสร้างอาชีพ เพื่อให้อยู่รอดได้ในสังคมมากกว่า หากอยากทำบุญขอให้ไปทำตามสถานสงเคราะห์หรือหน่วยงานภาครัฐดีกว่าเอาเงินให้ขอทาน

ปฎิเสธไม่ได้ว่า “ขอทาน” ไทยและต่างชาติที่เข้ามาหากินในประเทศไทย โดยอาศัยช่องทางของคนไทยใจดีและมีเมตตา ได้ส่งผลให้ธุรกิจขอทานเฟื่องฟูจนทำให้ขบวนการค้ามนุษย์เติบโตขึ้นจนยากจะปราบปราม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง