วันนี้ (22 พ.ย.2566) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงมาตรการการจัดระเบียบขอทานว่า ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ และเอ็นจีโอ ลงพื้นที่จัดระเบียบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง หากเป็นคนต่างด้าว ก็ต้องส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ผลักดันกลับประเทศต้นทาง
ส่วนขอทานคนไทยจะนำเข้าสู่สถานคุ้มครอง เพื่อรับการฝึกอาชีพตามความสมัครใจ หรือส่งกลับภูมิลำเนา ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสมัครใจเข้าสถานคุ้มครอง หากบังคับก็อาจจะถูกมองขัดหลักสิทธิมนุษยชน และเมื่อส่งกลับสักระยะก็กลับเข้ามาอีก
คนที่มาขอทานเป็นช่องทางที่หารายได้ง่าย ส่วนเจ้าหน้าที่ พม.ไม่มีอำนาจดำเนินการจับกุมต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ
นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ขอความร่วมมือประชาชนอย่าสนับสนุนการให้ทาน เพราะไม่รู้ว่าผู้ขอคนทานคนนั้นยากจนจริงหรือไม่ หรืออาจเป็นกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ก็ได้ ยิ่งเป็นการส่งเสริม ขอให้ประชาชนพิจารณาเลือกทำบุญได้กิจกรรมที่เหมาะสมอย่าง เช่น การทำบุญกับโรงพยาบาล จัดซื้อเครื่องมือแพทย์หรือกายอุปกรณ์ หรือตามสถานสงเคราะห์ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานรับผิดชอบของ พม.ก็มีหลากหลายทั้งการช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ คนด้อยโอกาสผู้พิการ ฝึกอาชีพ
ทั้งนี้ ใกล้เทศกาลปีใหม่คนส่วนใหญ่นิยมทำบุญ จะประสานตำรวจร่วมกันตรวจตราให้เข้มงวดมากขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้นให้เกิดการตระหนักว่า การขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตามพ.ร.บ.การควบคุมการขอทานปี 2559
อ่านข่าว จับเพิ่มแก๊ง "ขอทานจีน" อีก 1 ย่านลาดกระบังพบเข้าไทยใช้วีซา
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
เปิดสถิติขอทานทั่วประเทศ
นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวว่า จากสถิติสถานการณ์การขอทานทั่วประเทศในระบบฐานข้อมูล ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557 ถึง 31 ต.ค.2566 พบผู้กระทำการขอทาน 7,151 คน และพบว่าในช่วงโควิด-19 ปิดประเทศ ทำให้จำนวนขอทานต่างด้าวเข้าไทยลดน้อยลงแต่สัดส่วน ขอทานคนไทยเพิ่มมากขึ้น
จำนวนขอทานต่างด้าวพุ่ง 683 คน
- ปี 2561 จำนวน 190 คน
- ปี 2562 จำนวน 172 คน
- ปี 2563 จำนวน 115 คน
- ปี 2564 จำนวน 86 คน
- ปี 2565 จำนวน 69 คน
- ปี 2566 จำนวน 136 คน
- 1 ต.ค.2566 (ปีงบประมาณ 2567) 6 คน เป็นคนจีนทั้งหมด
อ่านข่าว ตร. สงสัย "ค้ามนุษย์ข้ามชาติ" พบชาวจีนขอทานเกลื่อน กทม.
ขอทานไทยไม่แผ่ว 1,794 คน
- ปี 2561 จำนวน 341 คน
- ปี 2562 จำนวน 261 คน
- ปี 2563 จำนวน 227 คน
- ปี 2564 จำนวน 220 คน
- ปี 2565 จำนวน 333 คน
- ปี 2566 จำนวน 400 คน
- 1 ต.ค.2566 (ปีงบประมาณ 2567) พบ 12 คน
ขอทานที่ถูกแจ้งพิกัดแถวลาดกระบัง อาจโยงแก๊งขอทานจีนที่ถูกจับไปแล้ว 6 คน
รายได้สูง 10,000 บาทต่อวัน
นางจตุพร กล่าวว่า ขอทานต่างด้าวที่พบส่วนใหญ่ใน ขณะนี้เป็นกลุ่มวัยแรงงานไม่ใช่คนแก่สูงอายุ เหมือนเช่นในอดีต และจากข้อมูลพบว่าทั้งหมด ถือวีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งทางพม.ต้องทำงานร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และตร.ท้องที่ในการปราบปรามจับกุม
ส่วนใหญ่ขอทานเหล่านี้มักอาศัยอยู่ในย่านนักท่องเที่ยว ชุมชน เช่น ศาลาแดง ย่านสะพาน พระปิ่นเกล้ามีรายได้ต่อวันมากถึง 10,000 บาท
อาชีพขอทานผิดกฎหมาย
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า อาชีพขอทาน เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย และไม่ควรให้การช่วยเหลือโดยการให้เงินแต่ควรเน้นเรื่องของการสร้างอาชีพ เพื่อให้อยู่รอดได้ในสังคมมากกว่า หากอยากทำบุญขอให้ไปทำตามสถานสงเคราะห์หรือหน่วยงานภาครัฐดีกว่าเอาเงินให้ขอทาน
ใจดีไม่ผิด แต่สำหรับขอทานอาจไม่ถูก ทำบุญ ควรเลือกทำกับกิจกรรมอื่นดีกว่า มีสถานสงเคราะห์ โรงเรียน โรงพยาบาลให้ทำ
อ่านข่าว
จับเพิ่ม 1 คน แก๊งขอทานชาวจีน โผล่อีก "เชียงใหม่ - ระยอง"