ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิษฝนหลงฤดู "ยุงลายเพิ่ม"ป่วยสูงไข้เลือดออก-ซิกา

สังคม
20 พ.ย. 66
17:40
1,134
Logo Thai PBS
พิษฝนหลงฤดู "ยุงลายเพิ่ม"ป่วยสูงไข้เลือดออก-ซิกา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค ชี้ภาวะโลกร้อน ทำฝนหลงฤดู พบป่วยไข้เลือดออก 132,126 คน ตาย 155 คน ,ติดเชื้อซิกา 615 คน ทำเด็กศีรษะเล็ก 13 คน หวั่นผู้ป่วยติดเชื้อยังเพิ่มสูง

วันนี้ (20 พ.ย.2566) พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผอ.กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โลกร้อนทำให้วงจรชีวิตของยุงเติบโต เร็วมากขึ้น ปัจจัยการเกิดยุง เกี่ยวข้องกับทางอุตุนิยมวิทยา ทั้ง ความชื้นสัมพัทธ์ ,ปริมาณน้ำฝน และอุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ทำให้จำนวนยุงเพิ่มมากขึ้น บางประเทศที่เคยหนาวก็อุ่นขึ้น แต่ประเทศไหนที่ร้อนอยู่แล้ว ยุงก็ไม่สามารถวางไข่ได้

ส่วนประเทศไทยปีนี้ เผชิญกับฝนหลงฤดู ทำให้เกิดแหล่งน้ำขังตามบ้านเรือน เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดน้ำขัง ตามกระถางต้นไม้ ,ขวดพลาสติก เพราะ สามารถขจัดได้ทั้งโรคไข้เลือดออก ,โรคติดเชื้อไวรัสซิกา

ห่วงป่วยไข้เลือดออก-ซิกาเพิ่ม 

พญ.ฉันทนา กล่าวว่า สำหรับไข้เลือดออกปีนี้พบมากขึ้น แต่โรคที่มาจากยุงและน่าเป็นห่วงที่สุด คือ การติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะจะทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้เชื้อ และเด็กเกิดมาพร้อมกับความพิการ หัวเล็ก การป้องกันที่ดีทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทายากันยุงแล้ว ดังนั้นต้องมีการฝากครรภ์ และสูตินรีแพทย์ต้องมีการอัลตราซาวด์ขนาดของศีรษะทารกในครรภ์เสมอ เพื่อดูว่าหยุดการเจริญเติบโตหรือไม่ เพื่อจะได้ให้ข้อมูลกับพ่อแม่เด็กว่า สมควรยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ

ไวรัสเดงกีสายพันธุ์ 2 อันตราย 

สำหรับข้อมูล สถานการณ์โรคติดต่อนำโดยแมลง รายงานตั้งแต่ 1 ม.ค. – 15 พ.ย. 2566 พบ โรคไข้เลือดออก มี ผู้ป่วยสะสม 132,126 คน อัตราป่วย 199.79 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3.4 เท่า โดย 5 จังหวัด ที่มีอัตราป่วยสูงในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด ได้แก่ เพชรบุรี(อำเภอเมือง , อำเภอบ้านแหลม) ชลบุรี(อำเภอศรีราชา, อำเภอเมือง) อุทัยธานี(อำเภอเมือง ,อำเภอบ้านไร่) สมุทรสงคราม (อำเภอเมือง ,อำเภออัมพวา ) และสงขลา (อำเภอหาดใหญ่ ,อำเภอเมือง ,อำเภอสะเดา) ตามลำดับ และมีการระบาดในอำเภอระบาด 705 อำเภอ ใน 77 จังหวัด มี เสียชีวิต 155 คน จาก 57 จังหวัด อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.12 โดยอัตราป่วยตายสูงสุดในกลุ่มอายุ 25 - 34 ปี โดยสายพันธุ์ไวรัสเดงกี ที่พบมากสุด คือ DENV-2 รองลงมา คือ DENV-1 , DENV-3 และ DENV-4

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าไข้เลือดออก อาจมีแนวโน้มระบาดข้ามปี ดังนั้น ต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มข้น กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สื่อสารความเสี่ยง เพื่อลดความรุนแรงของการระบาดและจำนวนผู้เสียชีวิต
ส่วนโรคไข้มาลาเรีย จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ของโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 17 พ.ย. 2566 พบผู้ป่วยสะสม 15,386 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ที่แล้ว 196 คน โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุดที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี มีผู้เสียชีวิตสะสม 6 คน ทั้งนี้จากการประเมินความเสี่ยง แนวโน้มผู้ป่วยยังคงทรงตัว และสูงกว่าปี 2565

ชิคุนกุนยา - ซิกา ยังระบาดหนัก 

ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 พฤศจิกายน 2566 พบผู้ป่วยสะสม 1,198 คน รายงานเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 27 คน อัตราป่วย 1.81 ต่อประชากรแสนคน จาก 51 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา จากการเก็บข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ป่วยสะสม 615 คน อัตราป่วย 0.93 ต่อประชากรแสนคน จาก 32 จังหวัด โดยในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด พบผู้ป่วยสูงที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร 23 คน และสระบุรี 19 คน

จากการตรวจสอบยืนยันหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา 24 คน พบว่า ทารกศีรษะเล็กยืนยันติดเชื้อไวรัสซิกา 13 ราย ทั้งนี้แม้ว่าแนวโน้มของโรคจะลดลง แต่ก็พบการติดเชื้อในบางจังหวัด ดังนั้นต้องเร่งกำจัดแหลางเพาะพันธุ์ยุง

เตือนนักเดินป่า ระวัง "สครับไทฟัส"

โรคสครับไทฟัส จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 พฤศจิกายน 2566 พบผู้ป่วยสะสม 6,903 คน ใน 70 จังหวัด อัตราป่วย 10.43 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 6 คน อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.09 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน , ระนอง , เชียงราย, ตาก และเชียงใหม่

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา และมีบางเดือนสูงเกินค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ในสัปดาห์นี้ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดใหม่ แต่พบการระบาดสูงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะอำเภอกัลยาณิวัฒนา สะเมิง และแม่แจ่ม ตามลำดับ ควรสื่อสารความเสี่ยงและการป้องกันตนเองแก่ประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง