วันนี้ (17 พ.ย.2566) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการเข้าเฝือกรักษาลูกช้างป่าชื่อเดือน เพศผู้ อายุ 1 เดือน ที่หน่วยพิทักษ์ป่า 08 ตลิ่งชัน อุทยานแห่งชาติแห่งทับลาน หลังตรวจพบกระดูกขาหลังข้างขวาหัก
ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ก่อนเริ่มเข้าเฝือกให้กับลูกช้าง ทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องประชุมวางแผนปฏิบัติงาน จากนั้นวางยาสลบ เอกเรย์และทำการเข้าเฝือกขาหลังทั้ง 2 ข้างและเอกเรย์ขณะทำการเข้าเฝือก เมื่อเข้าเฝือกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทีมสัตวแพทย์ได้ฉีดยาฟื้นสลบและเอกเรย์เพิ่มเติมอีกครั้ง
สภาพร่างกายลูกช้างป่าหลังจากวางยาสลบและเข้าเฝือก พบว่าปกติ ลูกช้างป่าสามารถกินนมได้ปกติ มีความสนใจสิ่งแวดล้อมและไม่พบอาการซึม
จากนั้น ทีมงานได้ประชุมเพื่อกำหนดวิธีการดูแลรักษาลูกช้างป่า หลังเข้าเฝือกหลังจากนี้
ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
อ่านข่าว : อัปเดตอาการ "ลูกช้างป่าทับลาน" ยังปวดขาหลัง - เตรียมใส่เฝือกวันนี้
ปรับแผนรักษาจากผ่าตัดเป็น "ใส่เฝือก"
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก "หน่วยสัตว์ป่า ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน - Wildlife Unit, Kasetsart University" ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาลูกช้างป่า โดยปรับวิธีการรักษาจากการผ่าตัดเป็นการใส่เฝือก
หลังจากทีมสัตวแพทย์ได้ระดมความคิดร่วมกับอาจารย์หมอที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกและทีมหมอช้าง พิจารณาวิธีการผ่าตัดอย่างละเอียดพบข้อจำกัดหลายด้าน
การผ่าตัดกระดูกด้วยการใช้โลหะดามกระดูก (plate and log screw) แม้เป็นวิธีเชื่อมกระดูกที่ดีที่สุด แต่ต้องเปิดแผลเป็นบริเวณกว้าง เพื่อวางแผ่นโลหะติดกับแนวกระดูกที่หัก ซึ่งพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่แผลบริเวณผ่าตัดจะแตกและเย็บไม่ติด เนื่องจากผิวหนังของช้างมีความยืดหยุ่นต่ำ อาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูก อีกทั้งต้องผ่าตัดรอบที่ 2 เผื่อถอดแผ่นโลหะออกหลังจากกระดูกเชื่อมแล้ว ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบหลังผ่าตัดแล้ว วิธีนี้จึงไม่เหมาะสมในปัจจุบัน
ขณะที่การผ่าตัดกระดูกด้วยการใช้ครอสพิน (cross-pin) ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกหลายคนมีความคิดเห็นตรงกันว่า พินไม่น่าจะสามารถรองรับน้ำหนักกระดูกช้างได้ โอกาสในการประสบความสำเร็จจากการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ต่ำ
ส่วนการผ่าตัดกระดูกด้วยการใส่อุปกรณ์ตรึงกระดูกภายนอก (illizarov) วิธีนี้ลดความเสี่ยงของการเปิดแผลผ่าตัดเป็นบริเวณกว้างและมีความแข็งแรงสูง เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน แต่เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ที่มีขนาดพอเหมาะกับขาช้าง จึงต้องสั่งทำใหม่ทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน นั่นหมายความว่าช้างต้องรอต่อไปอีก ทำให้โอกาสความสำเร็จในการผ่าตัดลดลงและสภาพร่างกายช้างอาจทนรอไม่ไหว
ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ดังนั้นจึงกลับไปพิจารณาวิธีรักษาด้วยการใส่เฝือกอีกครั้ง ซึ่งอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมที่สุด แต่เป็นวิธีที่ใช้เวลาเตรียมอุปกรณ์สั้นและมีโอกาสสำเร็จสูง แต่ต้องยอมรับข้อด้อยว่าวิธีนี้อาจส่งผลให้ขาลูกช้างผิดรูปและมีอาการเจ็บปวดบ้างในช่วงแรก แต่เนื่องจากช้างมีอายุน้อย ทำให้มีโอกาสสูงที่หลังจากกระดูกเชื่อมแล้ว กระดูกจะสามารถจัดรูปตัวเองและใช้รับน้ำหนักในระยะยาวได้
ด้วยเหตุนี้ ทีมสัตวแพทย์ได้เสนอให้เปลี่ยนวิธีการรักษา จากการผ่าตัดเป็นการใส่เฝือก สามารถลงปฏิบัติการได้ทันที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายสัตว์
อ่านข่าวอื่นๆ
เอ็นดู! "พลายเดือน" อยากเดินได้-ปรับแผนเข้าเฝือกแข็ง 17 พ.ย.นี้
อัปเดต 1 สัปดาห์ "กันยา" อยู่ฟาร์มเชียงใหม่ แข็งแรง-กินนมแม่บ่อย