ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทม.ยังไม่เอาผิดรถบรรทุก รอน้ำหนักที่แท้จริงในวันเกิดเหตุ

อาชญากรรม
9 พ.ย. 66
13:37
948
Logo Thai PBS
กทม.ยังไม่เอาผิดรถบรรทุก รอน้ำหนักที่แท้จริงในวันเกิดเหตุ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กทม.แถลงสั่งแก้ปัญหาภาพรวม ลดเสี่ยงรถตกบ่อท่อบนถนนพร้อมให้สำนักโยธาฯ ออกหนังสือแจ้งไซต์ก่อสร้าง 300 กว่าแห่ง ห้ามบรรทุกน้ำหนักเกิน กทม.เผยผลเคยจ้างจุฬาฯ สำรวจน้ำหนักรถบรรทุก พบทะเบียนคันเกิดเหตุเมื่อวาน เคยบรรทุก 61 ตันเมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (9 พ.ย.2566) เวลา 09:00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงร่วมกันถึงกรณีเหตุถนนยุบที่ สุขุมวิท 64/1 เขตพระโขนง ซึ่งมีรถบรรทุก 10 ล้อที่คาดว่าน้ำหนักเกินวิ่งผ่านมา แล้วตกลงไป

นายชัชชาติ ระบุว่า การตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก หากพิจารณาตามอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นกรุงเทพมหานครนั้น ทาง กทม. สามารถที่จะบังคับใช้ระเบียบตัวนี้ได้ แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ กทม.โดยเฉพาะเทศกิจ ไม่มีประสบการณ์ในการตรวจจับน้ำหนักของรถบรรทุก จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทั้งนี้ จากเหตุรถบรรทุกคันนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุว่ายังไม่ยืนยันว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากต้องรอกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจหาน้ำหนักที่แท้จริงในวันเกิดเหตุ

ส่วนกรณีการดำเนินการเอาผิดรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน เป็นแผนในอนาคตอันใกล้ หลังจากที่ตนเองได้หารือกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายในการดำเนินการสกัดกั้นรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกำลังสำคัญที่จะบังคับใช้กฎหมายอาญาเพราะเป็นคดีอาญา ซึ่งต้องอาศัยขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเป็นผู้มีหน้าที่เขียนสำนวนว่า จะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง

รถบรรทุกคันเกิดเหตุเคยบรรทุกดินเกินกฎหมายกำหนดมาแล้วเมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

รถบรรทุกคันเกิดเหตุเคยบรรทุกดินเกินกฎหมายกำหนดมาแล้วเมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

รถบรรทุกคันเกิดเหตุเคยบรรทุกดินเกินกฎหมายกำหนดมาแล้วเมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

ดังนั้นทาง กทม. มีแผนว่าหลังจากนี้จะขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ ไปที่ไซด์งานก่อสร้าง เพื่อสุ่มตรวจน้ำหนักรถบรรทุก โดยขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานเขตทุกเขต สำรวจไซด์งานก่อสร้างที่มีงานถมดิน ทั้งหมด 319 แห่ง ให้เจ้าหน้าที่ทำการสังเกตด้วยตาเปล่า หากพบรถบรรทุกที่คาดว่ามีน้ำหนักเกิน จะนำเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ ซึ่งได้รับการประสานงานจากกรมทางหลวง 2 เครื่อง ไปสุ่มตรวจ

หากพบว่าไซด์งานใด สั่งรถให้บรรทุกน้ำหนักเกิน จะมีการตักเตือนและอาจจะระงับใบอนุญาตการก่อสร้างชั่วคราว และในอนาคตทาง กทม. เตรียมจะติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัด Bridge weight motion (เครื่องตรวจจับน้ำหนักใต้สะพาน) 10 จุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยต้องรอให้ผลการวิจัยเสร็จสิ้นเสียก่อน คาดว่าจะติดตั้งได้ภายในสิ้นปีนี้ และปีหน้าจะมีการขยายการติดตั้งให้เพิ่มมากขึ้น แต่จะไม่ระบุว่าจุดไหนเพื่อให้เกิดการบังคับใช้งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ต่างประเทศมีการใช้เครื่องวัดตัวนี้ในหลายประเทศมีค่าความแม่นยำที่ยอมรับได้

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจาก กทม.ให้ความสำคัญกับรถบรรทุกคันเกิดเหตุแล้ว ยังต้องวางแผนเพื่อภาพรวมความปลอดภัยในอนาคตให้สามารถนำเทคโนโลยีและข้อมูลทางวิชาการมาปรับใช้ได้ด้วย ที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมขนส่งทางบก ตำรวจทางหลวง ตำรวจท้องที่ และหน่วยงานท้องถิ่น

ส่วนปัญหาเรื่องส่วยจากสติกเกอร์สีเขียวที่พบหน้ารถบรรทุก โดยข้อมูลจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย
ตั้งข้อสังเกตว่าคล้ายเป็นการสื่อว่า เป็นการอำนวยความสะดวก "ส่วย" ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่หรือไม่ เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้

อ่าน : "วิโรจน์" ตั้งข้อสังเกตรถบรรทุกตกถนน อาจเป็นเครือข่ายส่วยสติกเกอร์

นายชัชชาติ ยืนยันว่าจะต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างจริงจัง และยืนยันว่าสำนักงานเขต และ กทม. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับส่วยอย่างแน่นอน เพราะสำนักงานเขตและเทศกิจจะดูเฉพาะในส่วนของความสะอาด เช่น มีผ้าคลุมรถหรือไม่ ทั้งนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน คือ กทม., กรมทางหลวง และ ตำรวจท้องที่ มาร่วมทำงาน สร้างความมั่นใจให้กับพื้นที่

หากมีหลายฝ่ายมาร่วมกันทำงานจะทำให้ปัญหาการจ่ายส่วยลดลง เพราะมีหลักฐาน โดยตนเชื่อว่าตำรวจจะเอาจริงเอาจังเนื่องจากสมัยนี้ประชาชนเห็นหมด แนวปฏิบัติเดิมๆ อาจจะใช้ไม่ได้ในยุคนี้ ซึ่งสังคมจะเห็นว่าใครทำผิดและใครทำถูก ส่วนกทม.เอง ก็จะมาดูว่ามีปัญหาในส่วนไหน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากนี้ กทม. จะเก็บข้อมูลน้ำหนักรถบรรทุกเพื่อยื่นฟ้องคดีอาญาในกรณีต่อไปหรือไม่ นายชัชชาติ ระบุว่า ต้องรอให้เครื่องวัดมีความพร้อมเสียก่อน โดยคาดว่าจะมีการติดตั้งเครื่องวัด Bridge weight motion ประมาณ 100 ตัว ซึ่งยอมรับว่าจะต้องมีการเก็บข้อมูลหลายขั้นตอน โดยทาง กทม.จะศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายร่วมด้วยเพื่อให้มีน้ำหนักในการยื่นฟ้องต่อศาล ซึ่ง กทม.จะ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมากขึ้น และจะเอาผิดไม่ใช่เฉพาะเพียงคนขับรถบรรทุกเท่านั้น แต่จะเอาผิดไปถึงผู้รับเหมาและผู้ว่าจ้างรถบรรทุกด้วยเพราะถือเป็นการทำผิดร่วมกัน หากพบว่าไซด์งาน ไหนทำผิดจะมีโทษสูงสุดคือหยุดการก่อสร้าง

อ่าน : "ชัชชาติ" คาด 2 สาเหตุถนนซอยสุขุมวิท 64 ทรุด-เร่งซ่อมผิวทาง

รถคันเกิดเหตุเคยบรรทุกดิน 61 ตันมาแล้ว

นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กทม. อยู่ระหว่างทำวิจัยมาก่อนหน้านี้ โดยเก็บข้อมูลน้ำหนักรถบรรทุก ที่วิ่งเข้ามาใน กทม. รวมถึง ใช้ระบบ AI ตรวจจับทะเบียนรถบรรทุก ซึ่ง กทม. ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ทำวิจัย

เบื้องต้น พบข้อมูลจากงานวิจัยว่า การชั่งน้ำหนักรถบรรทุกที่สุ่มตรวจสอบจากเครื่องวัด Bridge weight motion (เครื่องตรวจจับน้ำหนักใต้สะพาน) เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2566 เวลา 15.32 น. พบว่า รถบรรทุกคันที่สุ่มตรวจสอบ มีน้ำหนักอยู่ที่ 61.4 ตัน ซึ่งน้ำหนักตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดระเบียบน้ำหนักรถบรรทุกที่มีการประกาศใช้เมื่อปี 2565 อยู่ที่ 25 ตัน ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ของกรมทางหลวง แต่ย้ำว่า ยังเป็นงานวิจัยเท่านั้น 

รองผู้ว่า กทม. แถลงผลการตรวจสอบเหตุรถบรรทุกที่ ถ.สุขุมวิท 64/1

รองผู้ว่า กทม. แถลงผลการตรวจสอบเหตุรถบรรทุกที่ ถ.สุขุมวิท 64/1

รองผู้ว่า กทม. แถลงผลการตรวจสอบเหตุรถบรรทุกที่ ถ.สุขุมวิท 64/1

แต่ในอนาคต ที่จะขยายจุดตรวจเพิ่มเติม ใน กทม. รวมถึงการนำนักกฎหมายเข้ามาร่วมในทีมวิจัยด้วย เพื่อจะได้ดูข้อมูลเรื่องข้อกฎหมายและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุบนท้องถนน ทาง กทม. พยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการด้วย

ขณะที่การประชุมเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งกำชับให้ฝ่ายเกี่ยวข้องตรวจสอบงานก่อสร้างบนถนนที่เป็นบ่อท่อร้อยสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง ที่มีอยู่ 879 แห่งบนถนนใน กทม. และบ่อของสำนักการระบายน้ำ ที่มีอยู่อีกกว่า 30 แห่ง เพื่อเข้มงวดกับมาตรฐานในระหว่างการก่อสร้าง ช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้อีก รวมถึงกำชับให้ตรวจเข้มไซด์งานก่อสร้างอีก 319 แห่ง เพื่อออกมาตรการห้ามบรรทุกน้ำหนักเกินเด็ดขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15:30 น. วันนี้ นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ เชิญประชุมหน่วยเกี่ยวข้องทั้งในสังกัด กทม. และ สังกัดกระทรวง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่มีงานก่อสร้างบนถนนเพื่อกำชับมาตราการร่วมกัน โดยหน่วยงานที่เชิญร่วมประชุม ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง, การประปานครหลวง, กรมทางหลวง, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ, สำนักการโยธา กทม., สำนักการระบายน้ำ กทม. และ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เป็นต้น

อ่าน : ถนนสุขุมวิท 64/1 ทรุดตัว กลืนรถบรรทุกครึ่งคัน-บาดเจ็บ 2 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง