วันนี้ (18 ต.ค.2566) ขณะที่อาคารรัฐสภา วันนี้ จัดเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็น พร้อมทั้งร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการครอบครองและสถานภาพทางกฎหมายของ “นกปรอดหัวโขน” โดยมีตัวแทนจากนักวิชาการ และคนเลี้ยงนกร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งมีผู้เลี้ยงนกจากทุกภาคร่วมการประชุมและแสดงความคิดเห็น
โดย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของการรับฟังความคิดเห็น โดยครั้งแรกจัดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ จ.สงขลา
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อการอนุรักษ์นกกรงหัวจุกแบบยั่งยืน และสามารถขยายพันธุ์นกกรงหัวจุกให้มากขึ้นเพื่อการส่งออก และเพื่อเศรษฐกิจของคนเลี้ยงทั่วประเทศ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนได้เสนอข้อคิดเห็น หาข้อสรุปเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำข้อสรุปเหล่านี้ไปเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพิจารณาเห็นชอบในการครอบครองนกกรงหัวจุกให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
นายวรวัทน์ เพชรมุณี นายกสมาคมกีฬาพื้นบ้านนกกรงหัวจุกภาคใต้ บอกว่า การดักจับนกป่า ไม่ใช่แนวทางที่กลุ่มเพาะเลี้ยงนกสนับสนุน แต่เหตุผลที่ต้องการให้ถอดชื่อ นกปรอดหัวโขน เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่จะสร้างรายได้หมุนเวียนนับพันล้านบาท ซึ่งกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงแข่งขันเสียงร้อง ก็ไม่ได้ใช้นกป่า เข้าแข่งขันอยู่แล้ว เพราะไอคิวต่ำ สอนเพลงยาก
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่าวันนี้ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การทำประชาวิจารณ์และความต้องการของผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก โดยกล่าวถึงขั้นตอนของการปลดล็อก ต้องแก้กฎกระทรวง หรือออกเป็นกฎทราง ต้องผ่านคณะกรรมการฯ เมื่อออกเป็นมติแล้ว รัฐมนตรีต้องนำสู่ ครม. เห็นชอบ ก่อนจะประกาศใช้ และปลดล็อกในขั้นตอนต่อไป
ด้านอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กำลังแก้ไขเร่งด่วนเรื่องสถานที่การออกใบอนุญาตครอบครอง จาก 21 จังหวัด เป็นกระจายทั้ง 76 จังหวัด แต่ยืนยันว่า การนำนกมาขึ้นทะเบียน ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ไม่ใช่นกป่า
ขณะที่ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และคณะ ยื่นหนังสือต่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งมองว่า นกปรอดหัวโขนนั้น มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และมีจำนวนประชากรซึ่งมีแนวโน้มลดลงอัน อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ นกปรอดหัวโขนอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนการขออนุญาตตามกฎหมาย ขณะที่การพยายามบ้านกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นการสนับสนุนเพียงมุมมองเชิงเศรษฐกิจด้านเดียว มิได้คำนึงถึงมูลค่าและคุณค่าความสำคัญทางความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากนกปรอดหัวโขน
ทั้งนี้การนำนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นการส่งเสริมการ ล่า ดัก จับนก และพรากลูกจากรังโดยใช้เครื่องมือดักนกต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการทำผิดกฎหมายซึ่งได้แอบดำเนินการอยู่ในขณะนี้
รวมถึงการนำนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองสร้างความกังวลว่า จะนำไปสู่การขอนำสัตว์ป่า คุ้มครองชนิดอื่น ๆ ออกจากบัญชีต่อไป ซึ่งจะกระทบวงจรชีวิตสัตว์ป่าอื่น ๆ ในธรรมชาติตามห่วงโซ่อาหาร และภาคบริการระบบนิเวศที่เกิดขึ้น
การหารือในวันนี้ ยังไม่เป็นข้อสรุปในการพิจารณาถอดชื่อนกปรอดหัวโขน ออกจากบัญชีสัตว์ป่า แต่จะเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในการตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังจะตั้งขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลทุกมิติ ก่อนจะสรุปข้อเท็จจริงโดยยึดหลัก เรื่องผลกระทบที่จะเกิดกับนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เครือข่ายฯ ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เห็นด้วย ปลด “นกปรอดหัวโขน” ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง
ไทม์ไลน์ 6 ปีปลดล็อก "นกกรงหัวจุก" พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์