การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกเกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา แต่มนุษย์จะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อความรุนแรงชัดเจนมากพอที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นผิวโลกและ โครงสร้างพื้นฐาน
แผ่นดินไหวระดับ 8.2 ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ที่มีศูนย์กลางบริเวณประเทศเมียนมา จัดอยู่ในระดับรุนแรงและก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง
ปีนี้ 2568 ผ่านมาเพียง 3 เดือน เกิดขึ้นไปแล้วถึง 4 ครั้ง สำหรับแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดเฉลี่ย 10-20 ครั้งทุกปี
สถิติการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีอานุภาพสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้มาก ถือเป็นข้อมูลที่ย้ำเตือนถึงความสำคัญของการเรียนรู้การรับมือภัยพิบัติที่คาดการณ์ไม่ได้ประเภทนี้

ข้อมูลจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ หรือ USGS พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงเกิน 7.0 ขึ้นไป ทั้งหมด 237 ครั้ง มากน้อยต่างกันไปในแต่ละปี ในจำนวนนี้มีปีที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงสูงสุด 3 ปี คือปี 2015 , 2021 และ 2023 ซึ่งเกิดถึงปีละ 19 ครั้ง และในบรรดาแผ่นดินไหวทั้งหมดนี้พบว่าแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุด วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 8.3 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ในอิยาเปล ประเทศชิลี
ในรอบ 10 ปี มีแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไปที่ไหนบ้าง?
นอกจากนี้ ปี 2015 น่าจะเป็นปีที่หลายคนจดจำภาพความสูญเสียของเหตุแผ่นดินไหวในเนปาลที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เม.ย. หลังจากแผ่นดินไหวความรุนแรง 7.8 เกิดขึ้นที่ความลึกเพียง 8.2 กิโลเมตร จากรอยเลื่อนย้อนที่แผ่นอินเดียเคลื่อนมุดลงใต้แผ่นยูเรเชีย ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งในกรุงกาฐมาณฑุ รวมถึงเขตกูรข่าที่เป็นจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวและยังเกิดหิมะถล่มบนยอดเขาเอเวอเรสต์ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แผ่นดินไหวเนปาลปี 2015 มีผู้เสียชีวิตร่วม 9 พันคน คือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ไม่ได้สร้างขึ้นตามมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และบ้านช่องส่วนใหญ่ยังสร้างด้วยอิฐและดิน ซึ่งไม่แข็งแรงพอที่จะทนแรงสั่นสะเทือนได้
ส่วนแผ่นดินไหวขนาด 7.8 อีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2023 จุดศูนย์กลางอยู่ในตุรกี แต่ผลกระทบครอบคลุมทั้งตุรกีและซีเรียอย่างรุนแรงมาก ด้วยสาเหตุหลายประการ นอกจากตุรกีจะเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลกหลายแผ่น ทำให้มีรอยเลื่อนอยู่มากแล้ว การก่อสร้างอาคารยังไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานการรับแรงสั่นสะเทือนและยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายพันครั้ง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วประมาณ 60,000 คน
นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่เกิดยังเป็นตอนเช้าตรู่ในระหว่างที่ผู้คนกำลังนอนหลับ ทำให้การอพยพได้ยาก ไม่นับรวมจำนวนประชากรที่หนาแน่นและ การกู้ภัยที่ทำได้ยากลำบากเพราะอากาศหนาวเย็น ผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ ส่วนในซีเรียก็เผชิญความขัดแย้ง ภายในประเทศที่ทำให้เป็นอุปสรรคซ้ำเติมภารกิจช่วยเหลืออีกทอดหนึ่ง

ถัดมาในปี 2024 ตั้งแต่วันแรกของปี เกิดแผ่นดินไหวที่คาบสมุทรโนโตะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น ด้วยความรุนแรง 7.5 โดยจุดศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปเพียง 10 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง กินพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อิชิกาวะ โทยามะ และ นีงาตะ จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 คน และยังเกิดสึนามิขนาดย่อมๆ ขึ้นด้วย
ความเสียหายที่เห็น ทำให้แผ่นดินไหวครั้งนี้นับเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ในรอบหลายทศวรรษ เพราะนอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้บาดเจ็บอีกหลายร้อยคนและมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่าความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้างต่างๆ ใน 3 จังหวัด คิดเป็นมูลค่ารวมระหว่าง 1.1-2.6 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2.49-5.9 แสนล้านบาท
ส่วนต้นปีที่ผ่านมาเพิ่งจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน ซึ่งวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 7.1 และยังรับรู้ไปได้ไกลถึงบางเมืองของเนปาล ภูฏานและอินเดีย เนื่องจากจุดศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปเพียง 10 กิโลเมตร

แผ่นดินไหวที่ทิเบตครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568 จุดศูนย์กลางอยู่ที่ติ้งรื่อ ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตมีรายงานจากหลายแหล่งที่ไม่ตรงกัน โดยอยู่ระหว่าง 130-400 คน ซึ่งสำหรับปี 2025 นับจนถึงวันที่ 30 มี.ค.2568 เพิ่งจะมีแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป เกิดขึ้น 4 ครั้ง คือที่ทิเบต , หมู่เกาะเคย์แมน , ต่อด้วยแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่เมียนมาและแผ่นดินไหวที่ตองกาเมื่อวันที่ 30 มี.ค.
จริงๆ แล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ยังมีแผ่นดินไหวครั้งอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายรุนแรงและคร่าชีวิตคนนับพันอีกหลายครั้ง แม้ว่าจะวัดความรุนแรงได้ไม่ถึงระดับ 7 โดยมีหลายปัจจัยประกอบ
และในเมื่อแผ่นดินไหวยังคงเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ มาตรฐานการก่อสร้างและการเรียนรู้วิธีการรับมือรวมถึงการเตือนภัย ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้นจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
อ่านข่าว :
ปภ.-ชัชชาติ ยันอาฟเตอร์ช็อก 3.7 ไม่กระทบตึก กทม.สั่นไหว
แพทองธาร-ชัชชาติ ยืนยัน ไม่มี "แผ่นดินไหว" เพิ่มใน กทม.