เด็กผู้ชายวัย 15 ปี มากความสามารถหลังม่านหนังใหญ่รับบทบาทเป็นพระราม และตัวละครหลัก ตระเวนแสดงตามงานต่าง ๆ ได้รับคำชื่นชม และเสียงปรบมือจากคนดูอย่างล้นหลาม แต่เมื่อลงจากเวทีเขากลับเป็นผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงจากคนใกล้ชิดอย่างเพื่อนในกลุ่ม ตลอด 3 ปี
บนเวทีผมเล่นเป็นพระเอก ผมชนะทุกคน แต่พอผมลงมาจากเวที ผมกลับเป็นผู้ถูกกระทำรุนแรง
เด็กวัย 15 ปี เผยรอยแผลตามร่างกาย บางจุดเห็นชัด บางจุดเริ่มเลือนลาง บ่งบอกว่า นี่ไม่ใช่แผลที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่เด็กคนนี้ได้รับบาดแผล จากการถูกทำร้ายมานานแล้ว
คนที่ทำร้ายไม่ใช่คนไกล แต่เป็นเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน และเพราะกลัวถูกเพื่อนทำร้ายร่างกาย เขาต้องคอยหลบซ่อน และบ่อยครั้งที่บาดเจ็บ ลุกไม่ไหว ต้องหยุดเรียนบ่อยครั้ง จนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องเอาชีวิตรอด ระวังตัวตลอดเวลา
เพราะบ้านอยู่ไกล เขาต้องอยู่หอพัก พ่อกับแม่จึงไม่ทราบว่าลูกถูกเพื่อนทำร้าย ตลอด 3 ปี แต่วันที่พ่อแม่ทราบ คือวันเดียวกันที่ต้องเซ็นต์ใบลาออกจากโรงเรียน ก่อนแจ้งความดำเนินคดีเพื่อนในกลุ่มรวม 4 คน
เพื่อนทั้ง 4 คนถูกดำเนินคดี แต่เพราะยังเป็นเยาวชนจึงถูกส่งเข้าสถานพินิจ 1 เดือน ก่อนศาลมีคำสั่งปล่อยเยาวชนทั้ง 4 คน ปฎิบัติตามแผนบำบัดแก้ไข ขณะที่การปล่อยตัวแม่ผู้เสียหายต้องยินยอมด้วย ชีวิตลูกชายต้องหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว และไม่รู้อนาคตหลังจากนี้
แม้จะเป็นคดีทำร้ายร่างกาย แต่หากใช้กระบวนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ต้นเยาวชนทั้ง 4 คน ไม่ต้องเข้าสถานพินิจ หรือ ผู้เสียหายไม่ต้องถูกไล่ออกจากโรงเรียน
กรณีนี้โรงเรียนต้องมีบทบาทสำคัญ ซึ่งเรียกว่า "กระบวนการเชิงฟื้นฟูเยียวยา"
นายอุกฤษฏ์ ศรพรหม นักวิจัยและผู้จัดการโครงการด้านการสนับสนุนหลักนิติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ระบุว่า หากโรงเรียนทราบว่านักเรียน หรือผู้เสียหาย กำลังเจอกับปัญหาถูกบูลลี่ ควรเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาพูดคุยกับ เพื่อหาสาเหตุของการบูลลี่ นอกจากนั้นต้องสร้างพลังบวกให้กับผู้ถูกกระทำ เพื่อสร้างคุณค่าในตัวเอง แต่หากกระบวนการพูดคุยภายในโรงเรียน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โรงเรียนควรส่งผู้เสียหายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโรงพยาบาล เพื่อพูดคุยกับแพทย์เฉพาะทาง หรือนักจิตวิทยา
และในทางคู่ขนานก็ต้องพยายามพูดคุยกับผู้กระทำ และสร้างวัฒนธรรมให้คนในโรงเรียนเห็นว่า การบูลลี่ เป็นพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งจะช่วยไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายไปสู่ความเสียหายที่หนักที่ขึ้น หรือเป็นคดีความ และจะสร้างความเสียหายต่อผู้เสียหายเอง โดยกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก
การลงไปหาต้นต่อของพฤติกรรมต่าง ๆ จะเป็นโอกาสที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือฟื้นฟูเยียวยาได้ช่วยแก้ปัญหาที่แท้จริง ระหว่าง 2 บุคคลเพื่อไม่ให้บานปลายไปสู้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเมื่อเด็กหรือผู้กระทำความผิด ไปสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วมันเกิดความเสียหายในเชิงกระบวนการเองค่อนข้างมากที่กระบวนการทำซ้ำต่อเด็ก
ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่าฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ทำร้ายร่างกาย เป็นหนึ่งใน 7 กลุ่มความผิด ที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 3 และการถูกบูลลี่ในโรงเรียนและชุมชน เป็นต้นเหตุใช้ความความรุนแรง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง