แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ : กะเหรี่ยง + ไร่หมุนเวียน = สิทธิอันชอบธรรมในฐานะผู้ดูแลป่า
“นอกจากจะทำให้การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนสูญสิ้นไป โครงการนี้ยังกำลังจะทำให้สิทธิความเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงหมดไปด้วย เพราะการที่เรายอมรับว่าอยู่มาก่อนปี 2541 หรือ 2557 มันจะกลายเป็นเอกสารที่เขานำไปอ้างได้ว่า พวกเรามาอยู่หลังมีประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี 2524”
“เราจะไม่ยอมเป็นรุ่นสุดท้าย”รุ่ง สเน่ติบัง ชาวกะเหรี่ยง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี เคยกล่าวไว้
“ทั้งที่เราอยู่อาศัยกันมาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ แต่เขากลับทำเหมือนกับเราเป็นคนต่างด้าวที่ต้องไปทำพาสปอร์ตใหม่เพื่อมาทำกินในที่ดินของตัวเอง การสร้างเงื่อนไขทางกฎหมายขึ้นมาใหม่แบบนี้ คือการบอกให้เรายอมรับว่าเป็นผู้บุกรุก และต้องไปขออนุญาตทำกิน และพวกเราก็แทบไม่มีพลังที่จะไปต่อสู้อะไรกับรัฐ”
“ถ้าไม่มีใครทำอะไรสักอย่างกับกฎหมายฉบับนี้ กะเหรี่ยงรุ่นพวกเรา คงจะเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว”พฤ โอโดเชา ชาวกะเหรี่ยง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
“กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย” คือถ้อยคำแสดงความหวาดวิตกต่อการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ ซึ่งถูกเอ่ยออกมาเหมือนๆกันจากปากของผู้นำนักต่อสู้ในประเด็นสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ และในผืนป่าภาคตะวันตกของประเทศไทย
ความกังวลจากกระบวนการทางกฎหมายที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช กำลังเดินหน้าปฏิบัติการ “ให้สิทธิทำกินชั่วคราวในพื้นที่อุทยานฯ” ตามร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากร ธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ...
ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญ คือ การสำรวจผู้อาศัยทำกินอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยยึดตามการรังวัดก่อนมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 หรือก่อนเริ่มใช้นโยบายทวงคืนผืนป่า โดย คสช.เมื่อปี 2557 และจะจัดทำรายชื่อบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตอุทยานฯ จากนั้นจะชักชวนให้เข้าร่วมโครงการรับสิทธิในที่ทำกินชั่วคราว ให้ถ่ายรูปบัตรประชาชนพร้อมเอกสารจำนวนที่ดินและแผนผังแปลน ให้ลงชื่อเข้าโครงการภายใต้เงื่อนไขใหญ่ คือ “ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ ... มิได้มีสิทธิในที่ดินนั้น” และมีระยะเวลาบังคับใช้ คราวละไม่เกิน 20 ปี” รวมทั้ง “จะต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร”
“รัฐกำลังสืบทอดจารีตประเพณีการจัดการกับชนเผ่า ในทำนองเดียวกันที่เจ้าอาณานิคมทำมาในอดีต ด้วยการกดดันให้พวกเขาวิตกกังกลและหวาดกลัว”
ในฐานะที่ปรึกษาของทีมทนายความที่ไปช่วยทำคดีการเผาบ้านชาวกะเหรี่ยงบางกลอยในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อปี 2554 แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมายาวนาน มองว่า การใช้อำนาจตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ อาจมีผลเลวร้ายกว่าเหตุการณ์เผาบ้านชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยด้วยซ้ำ เพราะรัฐกำลังส่งข้อความออกมาว่า สิทธิดั้งเดิมที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆเคยมีอยู่ กลายเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่จริง
“ข้ออ้างของรัฐในการใช้ “อำนาจเหนือที่ดิน” คือ การจะใช้ประโยชน์ในที่ดิน ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐเท่านั้น ดังนั้นที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารรับรองการทำประโยชน์จากรัฐ จึงถูกกำหนดให้เป็น “ป่า” ซึ่งรวมไปถึงที่ดินในป่า ที่มีกลุ่มคนอาศัยและทำกินอยู่มาก่อนแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้การรับรองจากทางราชการ ก็ยังคงถือเป็น ป่า อยู่เช่นเดิม และพื้นที่ป่าเหล่านั้น ก็กลายมาเป็นอุทยาน เป็นเขตหวงห้ามอยู่อาศัยทำกิน ผู้ที่อยู่มาก่อนจึงกลายเป็นผู้บุกรุก”
ทนายแสงชัย ยังอธิบายให้เห็นถึงหลักการของรัฐในการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชนทั่วไปว่า มีหลักในการจัดสรรที่ดินที่เหมาะกับการทำเกษตรในพื้นที่ราบลุ่มหนือเหมาะกับการปลูกพืชเศณาฐกิจมากกว่า เช่น การจะจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้ ก็ต้องมีร่องรอบการทำประโยชน์ในลักษณะการถางให้เตียนโล่งหรือปลูกพืชเป็นแถวเป็นแนวสวยงามมาก่อน เพราะรัฐมองถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะตามมาจากการจัดสรรที่ดินให้ประชาชน หรือแม้แต่การกำหนดเงื่อนไขใหม่ๆให้ประชาชนได้สิทธิชั่วคราว อย่างที่ดิน สปก.ก็มีเงื่อนไขว่าต้องทำการเกษตร ... ซึ่งวิธีการเดียวกันนี้ กลับกลายเป็นปัญหาเมื่อถูกนำมาใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีทำการเกษตรต่างออกไป โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง
สูตรการจัดสรรที่ทำกินแบบนี้มันครอบงำเลยไปถึงกะเหรี่ยง ทั้งที่ในอดีตพอตลาดข้าวมันเปิดกว้าง มีราคาดี ก็จะพบว่ามีผู้บุกเบิกที่ดินใหม่เพื่อทำนาทำไร่ขยับขยายเข้าไปชิดพื้นที่ป่ามากขึ้น ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเองก็ต้องขยับตัวอพยพเข้าไปในป่าลึกมากขึ้นตามไปด้วย
“ส่วนระบบเกษตรแบบคนเมือง คือการทำกินในพื้นที่ราบ ประชาชนเขาทำนาทำไร่โดยมีระบบชลประทานมารองรับ มีตลาดข้าวมารองรับ ก็กลายเป็นการลงทุนที่ต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยา ใช้ต้นทุนต่างๆมากขึ้น ซึ่งหากนำวิธีการเดียวกันนี้ไปใช้กับชาวกะเหรี่ยงซึ่งอยู่ในป่า ไม่มีระบบชลประทาน ไม่มีตลาดมารองรับ พวกเขาจะอยู่ได้ไม่กี่ปีเท่านั้น ดังนั้น ชาวกะเหรี่ยง จึงหวงแหนระบบการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของพวกเขามาก เพราะมันคือทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าที่มีความหมายผูกโยงไปถึงความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์”
สำหรับการออกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งทำให้ชาวกะเหรี่ยงในหลายพื้นที่กำลังกังวลว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้วิถีของชาวกะเหรี่ยง โดยเฉพาะ “ไร่หมุนเวียน” สูญหายไปในเวลาไม่นานนับจากนี้
ทนายแสงชัย วิเคราะห์ว่า รัฐออกกฎหมายฉบับนี้ เพราะกำลังพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นประเทศสีเขียวเข้ม เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นรายได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ การใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และการขายคาร์บอนเครดิต
“ดูเหมือนรัฐมีความพยายามอย่างมากจะขยายพื้นที่อุทยานฯเพื่อรองรับการท่องเที่ยว และรัฐน่าจะมองเห็นว่าพื้นที่ป่าของไทยมีศักยภาพที่จะเสนอเข้าสู่ตลาดคาร์บอนระดับโลก”
“ปัจจุบันเราเหลือพื้นที่ป่าอยู่ 17% ของประเทศ และเพื่อจะโปรโมทคาร์บอนเครดิต จึงมีความพยายามที่จะเพิ่มพื้นที่ป่า ตอนที่ทำนโยบายทวงคืนผืนป่า เขาก็ตั้งเป้าว่าจะทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มเป็น 40% ของประเทศ จึงทวงคืนรวมไปถึงพื้นที่ป่าชายเลนด้วยซ้ำ และผลพวงจากความพยายามเพิ่มพื้นที่ป่าก็คือ การยึดคืนที่ดินทำกินของคนที่อยู่อาศัยในป่าให้เหลือน้อยลง ที่ดินที่เหลืออยู่ก็ต้องปลูกต้นไม้ ทำการเกษตรในแบบที่รัฐต้องการ”
ในทางวิชาการ กลับมีผลการศึกษาที่ระบุไว้ว่า ไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง เป็นระบบเกษตรรูปแบบเดียวที่ช่วยเพิ่มคาร์บอนเครดิตได้ แต่รัฐกลับไปสร้างกฎเกณฑ์ที่บีบบังคับให้ชาวกะเหรี่ยงเลิกทำไร่หมุนเวียน ด้วยข้อความในกฎหมายนี้ที่เขียนว่า ... จะต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร ... และจริงๆแล้วยังต้องมาทบทวนกันดีๆด้วยว่า คาร์บอนเครดิต มันเป็นแนวทางที่จะยั่งยืนในเวทีโลกหรือไม่ เพราะเริ่มมีการวิจารณ์กันมากว่า นี่เป็นแนวทางที่บิดเบือนการใช้ทรัพยากรไปจากความเป็นจริง ทำให้ประเทศมหาอำนาจใช้เงินซื้อเครดิตคาร์บอนได้ โดยไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“กะเหรี่ยง ต้องไม่ถูกทำให้เป็นคนน่าสงสาร แต่ต้องถูกรองรับสิทธิในระดับสากล” คือทางออกที่ทนายแสงชัยเสนอ
ในฐานะที่ปรึกษา และได้สัมผัสกับชาวกะเหรี่ยงมาอย่างยาวนาน พบว่า สังคมกะเหรี่ยงไม่ชอบความขัดแย้ง แต่ชอบการประนีประนอม พร้อมที่จะถอยก่อน ซึ่งอาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ถูกบีบบังคับให้ต้องสยบยอมผ่านกลไกทางกฎหมายหรือการใช้อำนาจรัฐได้ แต่หากประเทศไทยมองออกไปในระดับสากล ก็จะเห็นว่า ในทวีปยุโรปและออสเตรเลีย ให้ความสำคัญกับการรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆเป็นอย่างมาก และหากมองดีๆ ไทยก็จะพบว่า วิถีกะเหรี่ยง เป็นทรัพย์สมบัติอันมีค่าที่ควรได้รับการรับรองและจะส่งผลดีกับไทยมากกว่าที่จะทำให้หายไป
“ในไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง เราจะพบวิถีมากมาย นี่เป็นไร่ที่ไม่ได้แค่ข้าว แต่มี..กับข้าว...รวมอยู่ด้วย มีผัก มีพืช มีไร่ที่ถูกพักฟื้นให้สัตว์เข้ามาอยู่ได้ มีปลาจากห้วย มีสมุนไพรที่นำไปทำเป็นยา ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในแปลงเกษตรทั่วไปที่เราเห็นกัน”
“ชาวกะเหรี่ยง ยังมีประเพณีการร้องรำ ปลูกฝ้าย ทำผ้าทอ ทำเครื่องแต่งกาย มีเครื่องดนตรีของพวกเขาเอง มีท่วงทำนองที่เป็นเอกลักษณ์ แม้แต่บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ... ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รัฐควรจะเรียนรู้และให้ความสำคัญ แทนที่จะพยายามทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องเปลี่ยนวิถีของตัวเองมาทำเกษตรแบบที่เราคุ้นชิน เพื่อจะเปลี่ยนไปใช้สารเคมี เพื่อจะไปเป็นหนี้ ธกส.”
สำหรับทนายแสงชัย สิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินตามวิถีดั้งเดิม จึงมีความหมายที่มากกว่าคำว่า “สิทธิชุมชน” ด้วยซ้ำ
“คำว่า สิทธิชุมชน มันก็เคยเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ดีที่ใช้ต่อสู้กันมาตลอด แต่สำหรับสิทธิการอยู่อาศัยในป่าของชาวกะเหรี่ยง เราสามารถตีความให้แคบลงมามากกว่าเดิมได้อีกครับ”
“ผมอยากให้ลองนึกภาพตามว่า การอยู่อาศัยทำกินในป่าของชาวกะเหรี่ยง ก็เป็นสิทธิเดียวกันกับคนขายของบนถนนสาธารณะ เป็นสิทธิเดียวกันกับชาวประมงที่ออกไปล่าสัตว์น้ำในทะเลมาขาย และหากเรามองเห็นวิถีการทำเกษตรที่ช่วยรักษาป่าอย่าง ไร่หมุนเวียน เราจะยิ่งเห็นว่า ชาวกะเหรี่ยงควรมีสิทธิในการอยู่อาศัยตามวิถีต่อไป เป็นสิทธิอันชอบธรรมในฐานะผู้บำรุงรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน”
ต้องถามกลับไปถึงหน่วยงานรัฐว่า คุณมีความชอบธรรมอะไรมาพรากสิทธิออกไปจากคนที่เขาทำหน้าที่รักษาทรัพยากรมาเนิ่นนาน
ทนายแสงชัย ทิ้งคำถามใหญ่ไว้ให้สังคมไทยว่า เราอยากให้ช่วงเวลาไม่กี่ปีจากนี้ไป คือยุคสมัยที่จะจารึกไว้ว่า เป็นยุคของ “ชาวกะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย” เพราะเราปล่อยให้วิถีที่ดีงามของพวกเขาถูกสิ่งที่เรียกว่า “กฎหมาย” ทำลายล้างไป ... แค่นั้นหรือ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
EP.1 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกบีบให้เปลี่ยนวิถีทำกิน
EP.2 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย ยอมเลิกทำไร่หมุนเวียน
EP.4 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย จัดที่ดินทำกินในอุทยานฯ "ล้างเผ่าพันธุ์กะเหรี่ยง"
เปิดเบื้องหลังคดี "บิลลี่" บันทึกความทรงจำ ทนาย-นักข่าว
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จำคุก "ชัยวัฒน์" 3 ปี ผิด ม.157 คดีบิลลี่