วันนี้(10 ต.ค.2566) รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลด้วยว่า ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยส่งสัญญาณไปแล้วว่า นโยบายดังกล่าวควรทำแบบเฉพาะกลุ่ม และอาจแบ่งการให้เงินเป็นงวด ครั้งละ 3,000-4,000 บาท ไม่ใช่การให้เพียงครั้งเดียว 10,000บาท
การใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กม.นั้นควรต้องขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น รวมทั้งอาจเพิ่มเงื่อนไขให้นำไปใช้จ่ายกับสินค้าที่มี local content
รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า การที่นักเศรษฐศาสตร์ออกมาคัดค้านนโยบายนี้ เชื่อว่าเป็นเพราะมีความกังวลว่าเม็ดเงินที่จะใช้ในการทำงบประมาณในระดับ 5-6 แสนล้านบาทจะเกิดความคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่
อีกทั้งกังวลต่อเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อตามมา อีกทั้งหากนโยบายนี้จะต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ก็จะเป็นตัวเร่งให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับสูงขึ้นได้อีก
อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าที่จะทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ก็เชื่อว่าคงต้องมีการพิจารณาปรับรายละเอียดเงื่อนไขบางประการ
โดยเฉพาะการจำกัดพื้นที่การใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กม.นั้น ก็ควรต้องขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น รวมทั้งอาจเพิ่มเงื่อนไขให้นำไปใช้จ่ายกับสินค้าที่มี local content ตลอดจนสินค้าที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือสร้างรายได้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ และมีความคุ้มค่ามากขึ้น