ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รำลึก 50 ปี 14 ตุลา 2516 วันประชาธิปไตยไทย

การเมือง
11 ต.ค. 66
13:19
8,847
Logo Thai PBS
รำลึก 50 ปี 14 ตุลา 2516  วันประชาธิปไตยไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

14 ตุลาคม 2516 ที่ครบ 50 ปีในปีนี้ มีเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาประท้วงรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างรุนแรง

ภาพเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516

ภาพเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516

ภาพเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาจาก นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมา เรียกร้องรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ในตอนนั้นเกิดจากการสั่งสมกดดันของการเมืองการปกครองของไทย ที่ ถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลาถึง 15 ปี นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 จนมาถึงการรัฐประหารซ้ำ ในปี 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร

แต่หลังจากนั้น รัฐบาลจอมพลถนอม ตอบโต้ด้วยควบคุมตัวกลุ่มบุคคล 13 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "13 กบฏรัฐธรรมนูญ" ที่บางส่วนออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พร้อมตั้งข้อหาหลายข้อ รวมทั้งข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

การจับกุมตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงเริ่มต้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และหยุดชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ภาพถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 รถถังกองทัพไทย

ภาพถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 รถถังกองทัพไทย

การประท้วงต่อเนื่องกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ จนรัฐบาลเปลี่ยนท่าที และสัญญาว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญ และปล่อยตัวประชาชนที่ออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี

แต่หลังจากเจรจากลุ่มนักศึกษายังคงชุมนุมต่อไปอีกหนึ่งคืน และบางส่วนได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงของรัฐ

เหตุการณ์ที่ควรจะจบลงด้วยความสงบ กลับถูกแทนที่ด้วยความรุนแรง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลได้ใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

หลังเกิดเหตุรุนแรง จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

หลังมีการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2516 ที่มีข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกจารึกในฐานะ "ชัยชนะของประชาชน"

ต่อมารัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทำการตั้ง "สมัชชาแห่งชาติ" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "สภาสนามม้า" ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 2,347 คน และให้เลือกกันเองให้เหลือ 299 คน จากนั้นจึงแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2517

ปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง รวมถึง ในปี พ.ศ.2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันประชาธิปไตย" เป็นวันสำคัญของชาติ

อ้างอิงข้อมูล iLaw, silpa-mag, สถาบันพระปกเกล้า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

มองลอดแว่น 47 ปี “คนเดือนตุลาฯ”ถึง “คนรุ่นใหม่”

ย้อนเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ในเดือน "ตุลาคม"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง