วันนี้(7ต.ค.2566) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ดัชนีนวัตกรรมโลกหรือ GII เปรียบเสมือนตัวชี้วัดการจัดอันดับผลการดำเนินงานและสะท้อนขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งในภาพรวมไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก และอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle-Income) รองจาก จีน มาเลเซีย บัลแกเรีย และตุรเคีย
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งนี้ตัวชี้วัดที่ไทยครองอันดับ 1 ของโลกมี 2 ด้าน ได้แก่ ด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Goods Export) และการลงทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยภาคธุรกิจ (Gross Expenditure on R&D (GERD) Financed by Business)
แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการนำนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการในระดับสูง และตระหนักถึงความสำคัญของการทำ R&D เพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับภาคธุรกิจ
สินค้านวัตกรรมสร้างสรรค์
นายวุฒิไกรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ไทยยังมีตัวชี้วัดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่น่าสนใจอีกหลายด้าน อาทิ จำนวนคำขออนุสิทธิบัตรที่ยื่นโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทย สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก จากเดิมอันดับ 8 ในปีที่ผ่านมา
การใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าและบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก คงที่จากปีที่ผ่านมา จำนวนคำขอสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยื่นโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทย สูงเป็นอันดับ 32 ของโลก จากเดิมอันดับ 34 ในปีที่ผ่านมา จำนวนคำขอสิทธิบัตรผ่านระบบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร
สินค้าสร้างสรรค์
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศ (Patent Cooperation Treaty: PCT) ซึ่งยื่นโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทย เป็นอันดับ 57 ของโลก จากเดิมอันดับ 62 ในปีที่ผ่านมา รายได้เกี่ยวกับสินค้าและบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นอันดับ 61 ของโลก จากเดิมอันดับ 64 ในปีที่ผ่านมา จำนวนคำขอสิทธิบัตรที่ยื่นโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทย เป็นอันดับ 71 ของโลก จากอันดับ 73 ในปีที่ผ่านมา เป็นต้น
ไทยมีจุดเด่นที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบาย SMART DIP เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจในยุคดิจิทัลพาไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางให้สำเร็จ
ข่าวอื่นๆ:
พาณิชย์ คุมเข้ม "เทศกาลกินเจ" ผักไม่ขาดตลาด