วันนี้ (5 ต.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "สิ่งเทียมอาวุธปืน" ครอบคลุมตั้งแต่แบลงค์กัน ไปจนถึงปืนที่ใช้ฝึกซ้อมกีฬา ซึ่งใช้กระสุนยิง คนละประเภทกับปืนอัดลม หรือ บีบีกัน พบว่า 8 เดือนแรกของ 2566 ไทยนำเข้าปืนเทียมประเภทนี้ มากกว่า 38,000 กระบอก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 754 ล้านบาท
หากย้อนดูการนำเข้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ไทยนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมาย เฉลี่ยปีละ 140,000 หน่วย และลดลงในช่วงโรคระบาด จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ
ระหว่างปี 2560 ถึงเดือน ส.ค.2566 ไทยนำเข้ามาแล้วเกือบ 580,000 กระบอก คิดเป็นเงินมากกว่า 9,600 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรียและสาธารณรัฐเช็ก
รายงานจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า การนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งครอบคลุมแบลงค์กันและปืนที่ใช้ฝึกซ้อมเพื่อกีฬา สามารถนำเข้าได้หากได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แต่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 30 จึงพบปัญหาการลักลอบนำเข้าประเทศผ่านช่องทางไปรษณีย์ เพื่อหลบเลี่ยงขั้นตอนการขออนุญาตและภาระภาษี โดยประเทศต้นทางคือ จีน แม็กซิโก เป็นต้น
จากกรณีกระทรวงมหาดไทยจะงดการออกใบอนุญาตนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบปัญหาการลักลอบนำเข้า ตลอดจนการสำแดงเท็จ หรือปะปนมากับสินค้าอื่น ตามนโยบายของรัฐบาล
อ่านข่าว : มท.1 งัดยาแรง 8 ข้อคุมปืน "งดออกใบอนุญาต" ทุกประเภท
สำรวจร้านขาย "บีบีกัน-แบลงค์กัน" ตลาดสันติสุข
ทีมข่าวไทยพีบีเอส สำรวจร้านจำหน่ายเครื่องแบบทหารและอุปกรณ์เดินป่า ที่ตลาดสันติสุข ย่านการค้าสำคัญของเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยพบการขายบีบีกันและแบลงค์กัน แต่วันนี้ (5 ต.ค.) กลับไม่พบการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว
จากการสอบถามแม่ค้าในตลาดสันติสุขคนหนึ่ง กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ร้านส่วนใหญ่ทยอยปิดกิจการ มีเพียงบางส่วนที่กลับมาเปิด แต่จะเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ รวมถึงจำหน่ายสินค้าถูกกฎหมายกันมากขึ้น ส่วนสินค้าอย่างบีบีกันและแบลงค์กัน ไม่พบเห็นนานแล้ว
อ่านข่าวอื่นๆ
ล้อมรั้ว "ปืน" มัจจุราช ความรุนแรง
"ผู้การแต้ม" แนะคุมเข้มอาวุธปืน ป้องกันดัดแปลงอาวุธปืน