ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้อนรอย! ปูมหลังเยาวชนก่อเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ

ต่างประเทศ
4 ต.ค. 66
17:35
3,777
Logo Thai PBS
ย้อนรอย! ปูมหลังเยาวชนก่อเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หากจะพูดถึงประเทศที่มีปัญหาความรุนแรงจากอาวุธปืนมากเป็นอันดับต้นๆ ในโลก คงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา มีหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจากฝีมือเยาวชน สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก อะไรเป็นสาเหตุหรือแรงผลักดันของพวกเขาเหล่านี้ ?

นักวิจัยพบว่าผู้ก่อเหตุซึ่งอายุยังน้อยส่วนหนึ่งมีลักษณะร่วม เช่น การถูกกลั่นแกล้งหรือเผชิญความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต โดยมีปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัจจัย นำไปสู่การกระทำที่เลวร้าย โดยเฉพาะหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน

เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ที่นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในสาขาจิตวิทยาในสหรัฐฯ พยายามศึกษาถึงต้นตอของเหตุรุนแรงที่มีผู้ก่อเหตุเป็นวัยรุ่น ยังอยู่ในวัยเรียน แต่กลับใช้ความรุนแรงในระดับที่ไม่มีใครคาดฝัน ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่ผู้ก่อเหตุอายุไม่ถึง 20 ปี

20 เม.ย.1999 นักเรียน 2 คน อายุ 17 และ 18 ปี ก่อเหตุกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ในเมืองลิทเทิลตัน รัฐโคโลราโด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน และ บาดเจ็บอีกมากกว่า 20 คน ก่อนที่ผู้ก่อเหตุทั้งสองจะปลิดชีวิตตัวเอง

อ่าน : "หมอยงยุทธ" จี้ สางพ.ร.บ.อาวุธปืน พบถือครอง 12 ล้านกระบอก

เหตุการณ์นี้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว นอกจากจะแตกต่างจากเหตุการณ์อื่นๆ ในช่วงเวลานั้น เพราะตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต อีกแง่หนึ่งที่ทำให้เหตุกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เป็นเพราะเหตุนี้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ก่อเหตุอีกจำนวนมากเลียนแบบ ทั้งในเยอรมนี ฟินแลนด์ อังกฤษ หรือแม้แต่ในสหรัฐฯ เอง

คนยืนไว้อาลัยเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์

คนยืนไว้อาลัยเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์

คนยืนไว้อาลัยเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์

ตามการประเมินของผู้เชี่ยวชาญหลังเกิดเหตุ ผู้ก่อเหตุวัย 17 ปี และ 18 ปี ทั้ง 2 คนนี้มีภูมิหลังแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
คนหนึ่งมีความรู้สึกเกลียดชังโลกและต้องการเห็นคนจำนวนมากตายอย่างทรมาน ขณะที่อีกคนมีอาการของโรคซึมเศร้า มองว่าตัวเองเป็นความล้มเหลว ทั้งๆ ที่มีครอบครัวอบอุ่นและฐานะดี

เมื่อ 2 องค์ประกอบนี้มาพบกัน จึงเป็นที่มาของการวางแผนอย่างละเอียดนานนับปี เพื่อระเบิดโรงเรียน ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด แต่เมื่อระเบิดไม่ทำงาน ทั้งคู่จึงเลือกใช้ปืนเป็นอาวุธแทน

อ่าน : นักอาชญาวิทยา เตือนระวัง Kick off รุนแรงซ้ำรอย

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 14 ก.พ.2018 เมื่อผู้ก่อเหตุวัย 19 ปี บุกเข้า ในเมืองพาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 17 คนและ บาดเจ็บอีก 17 คน

ผู้คนวางดอกไม้ไว้อาลัยเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนมัธยมมาร์จอรีย์ สโตนแมน ดักลาส

ผู้คนวางดอกไม้ไว้อาลัยเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนมัธยมมาร์จอรีย์ สโตนแมน ดักลาส

ผู้คนวางดอกไม้ไว้อาลัยเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนมัธยมมาร์จอรีย์ สโตนแมน ดักลาส

ผู้ก่อเหตุถูกจับกุมได้ในภายหลัง เขาให้การว่า เหตุกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์เป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขาคิดก่อเหตุ และศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการก่อเหตุสังหารหมู่มาเป็นเวลานาน แถมยังเลือกก่อเหตุวันวาเลนไทน์เพราะตั้งใจให้วันนี้กลายเป็นความทรงจำอันเลวร้ายตลอดไป

โดยก่อนเกิดเหตุเขาเคยถูกไล่ออกจากโรงเรียนนี้และปัจจุบันนี้ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตไปแล้ว

ส่วนเหตุสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ล่าสุดที่มีผู้ก่อเหตุอายุไม่ถึง 20 ปีเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เมื่อผู้ก่อเหตุวัยเพียง 18 ปี กราดยิงครูและนักเรียนที่โรงเรียนประถมฯ รอบบ์ ในรัฐเท็กซัส เหตุการณ์นี้มีนักเรียนเสียชีวิต 19 คน ครูเสียชีวิต 2 คน มีผู้บาดเจ็บอีก 17 คน ตำรวจพบว่าผู้ก่อเหตุเพิ่งจะซื้อปืนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในวันเกิดอายุครบ 18 ปี เพียงไม่กี่วันก่อนก่อเหตุ

ชาวอเมริกันเรียกร้องปัญหาการถือครองปืนในสหรัฐฯ

ชาวอเมริกันเรียกร้องปัญหาการถือครองปืนในสหรัฐฯ

ชาวอเมริกันเรียกร้องปัญหาการถือครองปืนในสหรัฐฯ

อ่าน : "ผู้การแต้ม" แนะคุมเข้มอาวุธปืน ป้องกันดัดแปลงอาวุธปืน

คำให้การของผู้ที่รู้จักกับผู้ก่อเหตุระบุว่า เขาเป็นคนเงียบ เก็บตัว สันโดษ และตกเป็นเป้าการกลั่นแกล้ง เย้าแหย่ ของเพื่อนๆ เสมอ แม้จะไม่มีประวัติอาชญากรรม แต่เขาส่งสัญญาณว่าอาจเอนเอียงไปสู่การใช้ความรุนแรงหลายประการ เช่น ผู้ก่อเหตุเคยพูดถึงความทรงจำอันเลวร้ายในห้องเรียนที่เขาเข้าไปก่อเหตุ มีประวัติขาดเรียนบ่อยครั้ง ผลการเรียนแย่ลงเรื่อยๆ และมีประวัติชกต่อยกับเพื่อนที่โรงเรียน 

ภาพประกอบข่าว - การถูกบูลลีในโรงเรียน

ภาพประกอบข่าว - การถูกบูลลีในโรงเรียน

ภาพประกอบข่าว - การถูกบูลลีในโรงเรียน

การศึกษาที่จัดทำโดยหน่วยอารักขาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ เมื่อปี 2004 พบว่าเกือบ 3 ใน 4 ของผู้ก่อเหตุกราดยิงตามโรงเรียน เคยถูกล้อเลียนหรือถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาด้านนี้พบว่ามีหลายปัจจัยที่ผลักดันให้คนๆ หนึ่งก่อเหตุสังหารหมู่ ส่วนมากผู้ก่อเหตุมักมีปัญหาชีวิต เผชิญความสูญเสีย ความล้มเหลว

ส่วนหนึ่งมีประวัติเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ถูกกลั่นแกล้งล้อเลียนซ้ำๆ ในโรงเรียน หรือบางคนต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิต ที่ในบางกรณีเป็นอาการที่ผสมรวมกันระหว่างโรคซึมเศร้ากับโรควิตกกังวล

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาสุขภาพจิตจะเป็นสาเหตุของการใช้ความรุนแรงไปเสียทั้งหมด เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้น ที่กลายเป็นผู้ก่อเหตุกราดยิง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะทางจิตอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พวกเขารับมือกับความเครียดต่างๆ ได้ยากขึ้น เมื่อมาประกอบกับการบริโภคสื่อที่มีเนื้อหารุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเกมหรือเหตุการณ์ต่างๆ จึงอาจเพิ่มโอกาสในการก่อเหตุมากขึ้น ซึ่งนักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่า หากเยาวชนได้รับคำปรึกษาหรือการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและทันท่วงทันที ผ่านการสังเกตและเอาใจใส่ อาจช่วยป้องกันไม่ให้ก่อเหตุสะเทือนขวัญเหล่านี้ขึ้นได้

วิเคราะห์โดย : วินิจฐา จิตร์กรี

อ่าน : "นายกรัฐมนตรี" เล็งพบทูตจีน เหตุนนท.เสียชีวิตยิงในพารากอน

อ่าน : เผยผลชันสูตรนักท่องเที่ยวเสียชีวิต เหตุเด็ก 14 ยิงในพารากอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง