สถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 ก.ย.2566 มีผู้ป่วยสะสม 216,600 คน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน โดยจังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ระยอง ภูเก็ต พัทลุง กรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี ยโสธร เชียงใหม่ ลำพูน ตราด และชุมพร ตามลำดับ
โรคไข้หวัดใหญ่ มักระบาดในฤดูฝน ช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค. และฤดูหนาว ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ซึ่งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) โดยไข้หวัดใหญ่ที่แพร่กระจายในคนมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธ์ A, B และ C
แต่สายพันธุ์ที่ระบาดทั่วไปคือ สายพันธุ์ A และ B ซึ่งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A พบบ่อย คือ H1N1, H3N2 ส่วนไข้หวัดสายพันธุ์ B พบบ่อย คือ สายพันธุ์ Victoria, Yamagata ส่วนสายพันธุ์ C ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ จึงทำให้ไม่เกิดการระบาด
อาการไข้หวัดใหญ่
- มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- มีอาการปวดศีรษะ และปวดตามร่างกาย
- มีอาการหนาวสั่น และอ่อนเพลีย
- มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
- มีอาการไอแห้ง และเจ็บคอ
ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน บางคนอาจมีอาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ได้แก่ หลอดลมอักเสบ รวมถึงหูชั้นกลางอักเสบ และไซนัสอักเสบ นอกจากนี้ยังพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะเป็นอย่างมาก ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ยากและมีอาการรุนแรงคือ โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม โดยเฉพาะในผู้ป่วยเป็นโรคปอดหรือถุงลมโป่งพองจะยิ่งทำให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้น
ไข้หวัดใหญ่จะติดต่อทางการหายใจ ซึ่งจะได้รับเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศเมื่อมีผู้ไอหรือจาม การแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด เช่น โรงเรียน หรือโรงงาน ทั้งนี้ยังสามารถแพร่เชื้อได้จากการสัมผัสฝอยละอองในอากาศ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ของผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ รวมถึงการใช้มือสัมผัสไปที่พื้นผิวที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่ แล้วนำมาสัมผัสที่จมูกและปากเช่นกัน ขณะที่ระยะการฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 1-3 วัน โดยผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการ และสามารถแพร่เชื้อไปได้อีก 3-5 วัน ส่วนการแพร่เชื้อในเด็กสามารถแพร่เชื้อได้ยาวนานถึง 7 วัน
กลุ่มเสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อ
- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
- ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในระยะที่ 2 หรือ 3 หรือผู้หญิงหลังคลอด 2 สัปดาห์
- ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโรคประจำตัว หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต และโรคเบาหวาน
วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
- หลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสตา จมูกและปาก
- หากพบว่าตนเองป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อไปในที่สาธารณะ
- ล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ
ในช่วงฤดูฝน โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปและอยู่ใกล้ตัวมาก เพราะฉะนั้นควรหมั่นเช็กว่าตนเองมีอาการที่เข้าข่ายเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไม่ เพื่อรีบรักษาอาการป่วยให้หายและไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายต่อไปในวงกว้าง
(ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลกรุงเทพ ,โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลพญาไท)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ติดเชื้อ “ไข้หวัดใหญ่” พุ่งสะสม 216,600 คน สวนทางโควิดขาลง
สธ.ห่วง "ไข้หวัดใหญ่" ระบาดพุ่ง - "ไข้เลือดออก" อัตราป่วยตายสูง