ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

EP.2 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย

สังคม
2 ต.ค. 66
15:10
783
Logo Thai PBS
EP.2 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง แห่งป่าแก่งกระจาน .. ไม่มีคำว่า “วันพรุ่งนี้” สำหรับ “ไร่หมุนเวียน” อีกต่อไป

“เปอมู้มากู่เมย อังมิงโพลงเข้อมาโอ้” ในภาษากะเหรี่ยง มีความหมายว่า “เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้วิถีชีวิตกะเหรี่ยงดำรงอยู่”

“ฉันโดนคดีบุกรุกทำลายป่า โดนกล่าวหาว่า ทำให้โลกร้อน”

กะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้องเรียกร้องให้เวียนแปลงไร่หมุนเวียนของชุมชน

กะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้องเรียกร้องให้เวียนแปลงไร่หมุนเวียนของชุมชน

กะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้องเรียกร้องให้เวียนแปลงไร่หมุนเวียนของชุมชน

ประไพ บุญชูเชิด หญิงชาวกะเหรี่ยงจาก อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี หรือที่คนอื่นในชุมชนเรียกว่า “ป้าปื๊อ” กลายเป็นผู้ต้องหารายล่าสุดที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมดำเนินคดีในข้อหา “บุกรุกทำลายป่า” แถมพ่วงด้วยคดี “ทำให้โลกร้อน” เหตุเพราะเธอทำ “ไร่หมุนเวียน” ตามวิถีปกติที่เคยทำมา และปล่อยไร่ที่เก็บเกี่ยวไปแล้วทิ้งไว้ เพื่อให้มันฟื้นตัวตามกลไกของธรรมชาติ

อ่านข่าว เปิดเบื้องหลังคดี "บิลลี่" บันทึกความทรงจำ ทนาย-นักข่าว

เขาไม่ได้มาจับเราที่กลางไร่นะ แต่มีคนมาบอกว่าเขาโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่าไร่เก่าที่เราทิ้งไว้มันผิดกฎหมาย กลายเป็นว่า...ไร่หมุนเวียนที่เราทิ้งไว้ให้มันฟื้นฟูเอง ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ถางไม่เตียน ไม่ทำต่อเนื่องทุกปี จึงกลายเป็นที่บุกรุกป่า ทั้งที่เราก็ยอมลงชื่อเข้าโครงการไปแล้วนะ แต่เขาก็มาจับเราจากพื้นที่ที่เราทำแปลงเก่าทิ้งไว้

ป้าปี๊อ กับแปลงที่ถูกจับ

ป้าปี๊อ กับแปลงที่ถูกจับ

ป้าปี๊อ กับแปลงที่ถูกจับ

“โครงการ” ที่หญิงชาวกะเหรี่ยงคนนี้พูดถึง มีที่มาจากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช ออกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง ที่ไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ ส่วนในพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในเขตอุทยาน โดยเฉพาะที่มีชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าภาคเหนือและป่าฝั่งตะวันตก กำลังอยู่ระหว่างการเดินสำรวจเพื่อโน้มน้าวให้ชาวกะเหรี่ยงยอมลงชื่อเข้าร่วมโครงการ

อ่านข่าว ศาลฯ ตัดสินวันนี้ “คดีฆาตกรรมบิลลี่”

กฎหมายฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกรมอุทยานฯ กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ มานานแล้ว โดยกรมอุทยานฯ จะสำรวจการถือครองที่ดิน จัดทำรายชื่อบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตอุทยานฯ พร้อมด้วยจำนวนที่ดินและแผนผังแปลน จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้อาศัยทำกินในเขตอุทยานฯ ได้ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขใหญ่ คือ “ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ ... มิได้มีสิทธิในที่ดินนั้น” และมีระยะเวลาบังคับใช้ คราวละไม่เกิน 20 ปี” รวมทั้งยังมีเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมโครงการด้วยว่า “จะต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร”

งื่อนไขสุดท้ายนี่เอง คือสาเหตุที่ทำให้ “ประไพ บุญเชิด” ถูกจับกุม เพียงเพราะมีร่องรอยของไร่หมุนเวียนเก่าที่ทำทิ้งไว้เหลืออยู่ ทั้งที่เธอยอมลงชื่อ ยอมรับเงื่อนไขเข้าร่วมโครงการไปแล้ว และนั่นคือบรรยากาศของความหวาดกลัวที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้องส่วนใหญ่ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากลงชื่อเข้าร่วมโครงการและยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง

พวกเราต้องยอมเลิกทำไร่หมุนเวียน ที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญามาตั้งแต่บรรพบุรุษ

“เราถูกศาลตัดสินว่าบุกรุกทำลายป่า ทำให้โลกร้อน ถูกยึดที่ดิน 5 ไร่ ถูกสั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท แต่โทษจำคุกเขาให้รอลงอาญา 2 ปี โทษปรับให้บำเพ็ญประโยชน์แทน ... ถ้าฟังแบบนี้ก็คือเราไม่ถึงกับต้องไปติดคุก แต่เราก็ทำไร่หมุนเวียนไม่ได้อีกแล้ว คนอื่นๆ เห็นก็ไม่กล้าทำแล้ว และที่ทำให้เรารู้สึกแย่มากที่สุด คือการที่เราอยู่ในป่า ดูแลรักษาป่ามาตลอดตั้งแต่รุ่นพ่อแม่เรา แต่เรากลายเป็นคนที่ถูกตีตราว่า ... ทำให้โลกร้อน ทำลายระบบนิเวศ ทั้งๆ ที่เราอยู่กับธรรมชาติ ไม่ได้ใช้ทรัพยากรอะไรสิ้นเปลืองเลย” ประไพ ทิ้งท้ายด้วยความเสียใจ

ก่อนจะมีคดีของประไพ มีชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง เคยถูกจับกุมดำเนินคดีมาก่อนหน้านั้นแล้วอีก 1 คน คือ “วันเสาร์ กุงาม” ศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
การทำแผนที่ชุมชน แนวเขตไร่หมุนเวียน ป่าใช้สอย ป่าพิธีกรรมของชุมชน

การทำแผนที่ชุมชน แนวเขตไร่หมุนเวียน ป่าใช้สอย ป่าพิธีกรรมของชุมชน

การทำแผนที่ชุมชน แนวเขตไร่หมุนเวียน ป่าใช้สอย ป่าพิธีกรรมของชุมชน

คดีของป้าวันเสาร์ คดีของป้าปื๊อ รวมไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดกว่า 10 ปี กับพี่น้องกะเหรี่ยงชุมชนใกล้เคียงอย่าง “บางกลอย” ซึ่งมีทั้งคนที่ถูกดำเนินคดี ถูกทำให้สูญหาย และมีคนถูกยิงเสียชีวิตแต่จับคนร้ายไม่ได้ ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้องอย่างมาก ทำให้การเดินสำรวจของเจ้าหน้าที่อุทยานตลอดช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา มีชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้องยอมลงชื่อเข้าร่วมโครงการนี้ไปแล้วถึงประมาณร้อยละ 90

แต่ก็ยังมีบางส่วน ที่ขอยืนหยัดต่อสู้ เพราะพวกเขาเชื่อว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป พวกเขาจะกลายเป็น “กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ... รุ่นสุดท้าย”

อ่านข่าว The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย

รุ่ง เสน่ติบัง คือหนึ่งในคนที่ขอต่อสู้ก่อนจะยอมรับการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์

“กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาบอกชาวบ้านว่าถ้าไม่รับข้อเสนอของอุทยานก็จะเป็นแบบป้าวันเสาร์ หรือชุมชนเราก็จะเป็นพื้นที่ขัดแย้งแบบบางกลอย ได้ยินแบบนี้ชาวบ้านเขาก็กลัว เขาก็ต้องยอมลงชื่อรับไป ถึงตอนนี้ก็มี 90% แล้ว ที่ยอมรับข้อเสนอของอุทยาน แต่ผมขอถามแบบใช้เหตุใช้ผลกันหน่อยว่า ถ้าไม่บอกว่าจะถูกจับ ถ้าไม่มีท่าทีเหมือนการบีบบังคับแบบนี้ ชาวบ้านเขายอมลงชื่อมั้ย” รุ่ง ตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ชายชาวกะเหรี่ยง ยังเล่าถึงรูปแบบการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในช่วงประมาณ 1 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งใช้วิธีการเดินสำรวจแปลงทำกินของชาวบ้าน ขอหมายเลขบัตรประชาชน ให้ชาวบ้านถ่ายรูปบัตรประชาชนกับพื้นที่ทำไร่แปลงที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แล้วให้กรอกแบบฟอร์มคำขอเข้าร่วมโครงการ ลงลายมือชื่อ พร้อมกำหนดแผนที่แนบท้ายแปลงที่จะอนุญาตให้ทำกินชั่วคราว 20 ปี ... จากนั้น ถ้าชาวบ้านไปทำไร่หมุนเวียนนอกแปลงที่กำหนดก็จะถูกจับ และหากไม่ทำไร่ในแปลงที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ไม่ถางให้เตียนทุกๆ ปี ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกยึดคืน

“หลักเกณฑ์ที่เขามาแจ้งว่าจะเข้าเงื่อนไขได้ที่ดินทำกินชั่วคราว มี 2 เงื่อนไขครับ คือ อยู่มาก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 หรือ อยู่มาก่อนที่จะเริ่มใช้นโยบายทวงคืนผืนป่า ของ คสช. เมื่อปี 2557 ดังนั้น เขาจะดูพื้นที่แปลงที่จะให้เราทำได้จากการรังวัดที่ดินใน 2 รอบดังกล่าวเท่านั้น จากนั้น เขาก็ให้ชาวบ้านถ่ายรูปแปลงตามแผนที่แนบท้าย ลงชื่อ พร้อมมีข้อความว่า ข้าพเจ้ายินดีจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ... ซึ่งนั่นมีนัยเหมือนการบีบให้ชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้องลงชื่อยอมรับว่า การอยู่อาศัยที่ผ่านมาตลอดชีวิตไม่เคยมีอยู่จริง กลายเป็นว่าพวกเราเพิ่งมาอยู่ก่อนปี 2541 หรือก่อนปี 2557 เท่านั้น”

อ่านข่าว เปิดเบื้องหลังคดี"บิลลี่"บันทึกความทรงจำ ทนาย-นักข่าว

“สมมติว่าเราเคยหมุนเวียนอยู่ 20 ไร่ แต่มีอยู่ 2 ไร่ ที่เราทิ้งไว้แบบป้าปื๊อ กลายเป็นแปลงคดี 2 ไร่นั้นก็จะถูกยึดไป และถ้าเรายังทำไร่หมุนเวียนอยู่ เพราะเราเชื่อว่ามันคือวิธีการรักษาป่าที่ดีกว่าทำแบบแปลงเดิมไปทุกปี ก็จะกลายเป็นว่าพื้นที่เราจะถูกยึดจนแหว่งลงไปทุกปี ดังนั้นเราก็ต้องมาทำตามที่เขาบอก คือ เลือกไว้แปลงหนึ่ง และทำแปลงเดิมทุกๆ ปี ห้ามทิ้งร้าง ถ้าเป็นเช่นนี้ ไร่หมุนเวียนที่ช่วยรักษาป่า ปล่อยให้ป่าฟื้นฟูได้เองก็จะค่อยๆ หายไป และจะได้พื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวที่เมื่อทำไปนานๆ ดินจะเสื่อมจนต้องใช้สารเคมีมาแทนที่ในระยะยาวอย่างแน่นอน”

“นอกจากจะทำให้การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนสูญสิ้นไป โครงการนี้ยังกำลังจะทำให้สิทธิความเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงหมดไปด้วยครับ เพราะการที่เรายอมรับว่าอยู่มาก่อนปี 2541 หรือ 2557 มันจะกลายเป็นเอกสารที่เขานำไปอ้างได้ว่า พวกเรามาอยู่หลังมีประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี 2524”

สุนิสา สาลิลา หรือ ตั้ว เป็นเยาวชนหญิงชาวกะเหรี่ยงอีกคนในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง ที่กังวลว่า รุ่นของเธอ จะเป็นกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้องรุ่นสุดท้ายจริงๆ จากการออกกฎหมายเช่นนี้

ตั้ว ตั้งคำถามที่แสนง่ายดาย คำถามนั้นคือ ... ทำไมต้องบังคับให้กะเหรี่ยง เลิกทำไร่หมุนเวียน

ถ้าจะบอกว่ากะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนเป็นการทำลายป่า ต้องถูกจับ ถูกดำเนินคดี แต่เราเคยมีการศึกษา มีงานวิจัยยืนยันแล้วว่า ไร่หมุนเวียน เป็นระบบเกษตรที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง เป็นการเกษตรที่สอดคล้องกับการรักษาระบบนิเวศ ดังนั้นจึงขอถามกลับไปว่า แล้วรูปแบบการทำเกษตรแปลงเดียวที่มาบังคับให้เราเปลี่ยนไปทำ มันมีข้อดียังไง มีงานวิจัยมารองรับมั้ย

“เราทำเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติมาตลอด แปลงไหนเก็บเกี่ยวแล้วก็คืนธรรมชาติไป ปล่อยให้ป่าได้พักฟื้น รักษาต้นน้ำได้ด้วยเพราะไม่ต้องใช้สารเคมีเลย ทำไมถึงมาบังคับให้เราเปลี่ยนไปทำเกษตรแบบที่ต้องใช้สารเคมี แบบนี้ ... ใครกันแน่ที่ทำลายป่า” นี่เป็นคำถามที่ สุนิสา ต้องการคำตอบมาตลอด

และเพื่อรักษาคำมั่นที่ให้ไว้กับบรรพบุรุษ “เปอมู้มากู่เมย อังมิงโพลงเข้อมาโอ้” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่าเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้วิถีชีวิตกะเหรี่ยงดำรงอยู่ ทำให้ รุ่ง สเน่ติบัง ตัดสินใจรวบรวมชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง มาช่วยกันรวบรวมข้อมูล ทำงานวิจัยเพื่อยืนยันความเป็นชุมชนดั้งเดิมของพวกเขาไปสู้กับกติกาของรัฐ

“เราเดินไปเจอเจ้าหน้าที่เหมือนเจอเสือ แต่ก่อนก็ต้องวิ่งหนี หรือยอมสิโรราบ แต่ตอนนี้เราถูกบังคับให้ต้องสู้แล้วครับ เราจึงกำลังรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชนกันอยู่ ซึ่งชุมชนเรามีหลักฐานการแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาต่อเนื่องถึง 6-7 รุ่น นับเป็นช่วงเวลาก็มากกว่าร้อยปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่หนองหญ้าปล้องยังเป็นมณฑลขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี”

“เรายังได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เข้ามาช่วยจัดทำผังตระกูลของชุมชน และทำการศึกษาวิจัยเรื่องผลดีต่อป่าจากการทำไร่หมุนเวียนด้วย ดังนั้นการต่อสู้ด้วยข้อมูล สู้ด้วยความจริง จะเป็นวิธีการต่อสู้ของพวกเราชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง เพื่อรักษาวิถีดั้งเดิมของเราไว้ให้ได้”

“เราจะไม่ยอมเป็นรุ่นสุดท้าย” ... รุ่ง สเน่ติบัง ประกาศ 

 รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

 

EP.1 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกบีบให้เปลี่ยนวิถีทำกิน

EP.3 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย สิทธิชอบธรรมของผู้ดูแลป่า

EP.4 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย จัดที่ดินทำกินในอุทยานฯ "ล้างเผ่าพันธุ์กะเหรี่ยง"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง