"ไทยพีบีเอสออนไน์" รวมข้อมูลปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม อาการและวิธีตรวจเต้านมเบื้องต้นด้วยตัวเอง เพราะถือเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับผู้หญิง รวมถึงสถานที่ตรวจคัดกรองฟรีตามโครงการ "ตุลาคมเดือนแห่งการป้องกันมะเร็งเต้านมโลก"
"มะเร็งเต้านม" เกิดจากเซลล์ภายในเต้านมที่แบ่งตัวผิดปกติ โดยเซลล์มะเร็งจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและโตขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นก้อนใหญ่ให้คลำได้ หากไม่ได้รับการรักษา เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปอวัยวะใกล้เคียง ทั้งต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ เข้าสู่หลอดเลือด และ/หรือทางเดินน้ำเหลือง ทำให้สามารถไปสู่อวัยวะอื่นๆ ที่ไกลออกไป ได้แก่ กระดูก ปอด ตับ หรืออวัยวะสำคัญอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม
แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลสรุปแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. อายุมากขึ้น มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น พบได้มากในวัยกลางคนตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ที่พบได้ในอายุตํ่ากว่า40 ปี
2. ฮอร์โมนเพศหญิงมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม เห็นได้จาก
2.1 ช่วงเวลาในการมีประจําเดือน พบว่าผู้ที่มีประจําเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อย หรือหมดประจําเดือนช้า มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเกิดมะเร็งเต้านม
2.2 ผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตร หรือตั้งครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อย
2.3 ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกําเนิดมากกว่า 5 ปี หรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนหลังหมดประจําเดือน เป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมมากขึ้น
3. ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง มีโอกาสเสี่ยงที่จะตรวจพบโรคมะเร็งได้ที่เต้านมอีกข้างหนึ่ง หรือผู้ที่เคยตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเต้านมบางชนิด มีโอการเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น
4. ประวัติครอบครัว พันธุกรรม มะเร็งเต้านมมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับยีน BRCA1, BRCA2 ผู้หญิงที่มีการกลายพันธุ์ของยีนนี้จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
5. ประวัติการได้รับรังสี โดยเฉพาะการได้รับรังสีบริเวณหน้าอกเมื่ออายุยังน้อย
6. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกําลังกาย ภาวะอ้วนหลังหมดประจําเดือน น้ำหนักเกิน เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
อาการมะเร็งเต้านม
ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมส่วนมากจะไปพบแพทย์ด้วยปัญหาก้อนที่เต้านม แต่ยังมีอาการอื่นๆ ที่ควรไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน คือ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณหน้าอก เช่น มีรอบบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติคล้ายเปลือกส้ม หรือเกิดเป็นสะเก็ด
นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงของหัวนม เช่น มีการหดตัว คันหรือแดงผิดปกติ เลือดออกทางหัวนม อาการเจ็บเต้านม หรือมีก้อนที่รักแร้
หากคลำพบก้อนที่เต้านม ไม่ต้องรอให้มีอาการเจ็บหรือปวด ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว
มะเร็งเต้านม แบ่งเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 ซม. ยังไม่มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 ซม. และ/หรือมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน
ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันอย่างมาก จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้นมารวมติดกันเป็นก้อนใหญ่ หรือติดแน่นกับอวัยวะข้างเดียว
ระยะที่ 4 ก้อนมะเร็งมีขนาดโตเท่าไหร่ก็ได้ แต่พบว่ามีการแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกายที่อยู่ไกลออกไป เช่น กระดูก ปอด ตับ หรือสมอง เป็นต้น
ส่วนมะเร็งเต้านมในระยะที่ยังไม่ลุกลาม ทางการแพทย์เรียกว่า Carcinoma in situ จะเรียกมะเร็งเต้านมในระยะนี้ว่าเป็นระยะที่ 0 โดยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะสามารถมีอัตราการอยู่รอดเกิน 5 ปี สูงถึง 70-90%
สำหรับวิธีการรักษามะเร็งเต้านมที่ได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับมี 5 วิธี คือ การรักษาโดยการผ่าตัด, การฉายแสง(รังสีรักษา), ยาต้านฮอร์โมน, ยาเคมีบำบัด และการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธ์เฉพาะ แต่อย่างไรก็ตามแพทย์อาจเลือกการรักษาแต่ละอย่างแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์ที่เป็นเป็นหลัก
พบมะเร็งเต้านมระยะแรก เพิ่มโอกาสรักษาหาย
การพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญ ทั้งการตรวจด้วยตัวเอง ตรวจโดยแพทย์และการเอ็กซเรย์เต้านม โดยมีคำแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง และตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 3 ปี
ผู้หญิงที่มีอายุ 40-69 ปี ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 1 ปี และควรได้รับการตรวจด้วยการทําแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี ขณะที่ผู้หญิงที่อายุ 70 ปีขึ้นไป การตรวจคัดกรองในกลุ่มนี้แพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมเป็นรายบุคคล
ส่วนผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มตรวจด้วยแมมโมแกรมตั้งแต่อายุที่ญาติสายตรงเป็น ลบออก 10 ปี เช่น หากมีแม่เป็นมะเร็งเต้านมตอนอายุ 45 ปี เราควรตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมเมื่ออายุ 35 ปี เป็นต้น
ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 พบหญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมมากสุด 38,559 คน รองลงมามะเร็งปากมดลูก 12,956 คน ส่วนมากพบมะเร็งเต้านมในหญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป
ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง..ทำอย่างไร ?
การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรทําอย่างน้อยเดือนละครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมสําหรับผู้ที่ยังมีประจําเดือน คือ 7-10 วัน หลังจากมีประจําเดือนวันแรก เช่น มีประจําเดือนวันที่ 10 เป็นวันแรก วันที่เหมาะสมในการตรวจเต้านม คือ วันที่ 17-20 เนื่องจากเต้านมจะอ่อนตัว ทําให้คลําพบสิ่งผิดปกติได้ง่าย
กรณีที่ไม่มีประจําเดือนแล้ว ควรกําหนดวันที่ช่วยให้จําง่าย เช่น ทุกวันที่ 1 หรือทุกวันที่ 15 ของเดือน โดยการตรวจเต้านมด้วยตนเองอาจตรวจได้ทั้งในท่ายืน ท่านั่ง หรือท่านอน ในห้องปิดมิดชิด เพราะต้องถอดเสื้อออก ส่วนวิธีการตรวจมี 2 ขั้นตอน คือ การดู และการคลํา
"การดู" ให้ยืนหน้ากระจกเงา ปล่อยแขนแนบลําตัวทั้ง 2 ข้าง ตามด้วยท่ายกมือ ท่าเท้าสะเอว และท่ายกมือทั้ง 2 ข้างไว้เหนือศรีษะ แต่ละท่าควรสังเกตดูสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
- หัวนม ตําแหน่งของหัวนมควรอยู่ในระดับเดียวกัน สีผิวของหัวนมเหมือนกัน รูปร่างคล้ายกัน หัวนมไม่ถูกดึงรั้งให้บุ๋มลง หรือเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ควรมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกจากหัวนม ไม่ควรมีแผลผิวถลอก หรือแผลจากก้อนนูนแตกออกมาที่ผิว
- ปานนม ควรมีผิวเนียนและสีเสมอกัน ไม่ควรมีรอยนูนจากก้อนมะเร็งดันผิวขึ้นมา หรือรอยบุ๋มจากก้อนมะเร็งดึงรั้งลงไป ไม่ควรมีแผลผิวถลอก หรือแผลจากก้อนนูนแตกออกมาที่ผิว
- ผิวเต้านม ควรมีผิวเนียน สีผิวเสมอกัน ไม่ควรมีลักษณะผิวบวมหนา รูขุมขนใหญ่เป็นลักษณะเหมือนผิวส้ม ไม่ควรมีรอยนูนหรือรอยบุ๋มจากการดึงรั้งของก้อนมะเร็ง ไม่ควรมีสีผิวแดงคล้ำ ผิวตึงบางจากการที่ก้อนมะเร็งรุกรานเข้าไปใต้ผิวหนัง ไม่ควรมีรอยแผลแตกทะลุที่ผิวหนังพร้อมกับมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมา
- ระดับและขนาดของเต้านมทั้ง 2 ข้างควรอยู่ระดับเดียวกัน มีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกัน ไม่ควรมีการดึงรั้งขึ้น หรือห้อยลงมาผิดปกติจากการมีก้อนมะเร็ง
"การคลํา" หลังจากดูลักษณะเต้านม 2 ข้างแล้ว ให้คลําบริเวณรักแร้ บริเวณเหนือกระดูกไหปล้าร้า และคลําเต้านมทั้ง 2 ข้าง
- การคลําบริเวณรักแร้และเหนือกระดูกไหปลาร้าทั้ง 2 ข้าง เพื่อดูว่ามีต่อมน้ำเหลืองบริเวณดังกล่าวโตหรือไม่ ท่าที่เหมาะสมคือ นั่งตัวตรง วางแขนข้างที่จะตรวจบนโต๊ะ และใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางของแขนอีกข้างคลําลึกเข้าไปในรักแร้ข้างที่จะตรวจ รวมทั้งคลําต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้าด้วย ทําสลับกันทั้ง 2 ข้าง สังเกตดูว่ามีก้อนที่คลําได้บริเวณรักแร้หรือเหนือกระดูกไหปลาร้าหรือไม่
- สามารถคลําเต้านมได้ทั้งในท่ายืนและท่านอน โดยท่ายืน ให้ยืนยกแขนข้างที่จะตรวจไว้เหนือศรีษะ หรือในท่านอน ให้นอนหงายหนุนหมอนเตี้ยๆ ใช้ผ้าหนุนไหล่ ยกแขนข้างที่จะตรวจไว้เหนือศรีษะ จากนั้นใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง ค่อยๆ กดลงบนผิวหนังเบาๆ และกดแรงขึ้นจนกระทั่งสัมผัสกระดูกซี่โครง
- ทิศทางในการคลํา สามารถคลําได้ทั้งเป็นวงกลมจากหัวนม วนตามเข็มนาฬิกาออกไป หรือคลําจากเต้านมส่วนนอก วนตามเข็มนาฬิกาเข้ามาหาหัวนม คลําไล่ขึ้น-ลงจากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า หรือคลําเป็นแนวรัศมีจากหัวนมออกไปด้านนอก
ทุกแบบมีหลักการเดียวกัน คือ คลําทุกส่วนของเต้านมให้ครบถ้วน และต้องบีบหัวนม เพื่อดูว่ามีสิ่งคัดหลั่งออกจากบริเวณหัวนมหรือไม่ หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลําอีกข้างแบบเดียวกัน
ชวนตรวจฟรี "คัดกรองมะเร็งเต้านม"
เดือน ต.ค. ซึ่งถือเป็นเดือนแห่งการป้องกันมะเร็งเต้านมโลก กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี เชิญชวนผู้หญิงตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไปและไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมฟรี
ให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น.(ปิดรับลงทะเบียน 15.00 น.) จำกัดจำนวน 200 คนต่อจุดบริการต่อวัน
สำหรับการเตรียมตัวก่อนรับการตรวจ จะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วย, ใส่เสื้อผ้าสบาย ถอดง่าย สะดวกต่อการตรวจ, งดทาแป้ง โลชั่น น้ำหอม บริเวณหน้าอกและรักแร้ และผู้ที่มีประจำเดือนควรตรวจหลังจากประจำเดือนหมดแล้ว 7 วัน เพื่อลดอาการเจ็บเต้านม
เช็กสถานที่ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมฟรี (ทั้งนี้สถานที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แนะนำติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิกาญจนบารมี)
(ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร)
อ่านข่าวอื่นๆ
X-ray ยีนกลายพันธุ์ ต้นตอ "มะเร็งปอด"
สธ.ห่วง "ไข้หวัดใหญ่" ระบาดพุ่ง - "ไข้เลือดออก" อัตราป่วยตายสูง
สธ.สั่ง สพฉ.ตั้งทีม Sky Doctor ทั่วไทยเพิ่มความเร็วส่งต่อผู้ป่วย