ดาวเทียม GOES-U ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA สหรัฐอเมริกา ผ่านการทดสอบก่อนปล่อย (Environmental Testing) แล้ว เพื่อยืนยันว่าดาวเทียม GOES-U ซึ่งจะเป็นดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary) จะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าและโคจรที่ความสูงกว่า 35,790 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกได้
ดาวเทียม GOES-U (Geostationary Operational Environmental Satellite-U) เป็นดาวเทียมสภาพอากาศในซีรีส์ GOES-R ของ NOAA เพื่อการพยากรณ์อากาศ การติดตามพายุ และการวิจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา โดยเครือข่าย GOES ของ NOAA ครอบคลุมพื้นที่บริเวณสหรัฐอเมริกา มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก อเมริกาใต้ และอเมริกาตอนกลาง
การทดสอบก่อนปล่อยของ GOES-U นั้นรวมไปถึงการทดสอบใน “Thermal Vacuum Chamber” หรือห้องสุญญากาศความร้อน โดยภายในห้องนี้ อุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงระหว่าง 87 องศาเซลเซียส ไปจนถึง -55 องศาเซลเซียส เพื่อจำลองสภาพการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันระหว่างการปล่อยและในอวกาศ นอกจากนี้ อากาศก็จะถูกดูดออกจากห้องเพื่อจำลองสภาวะสุญญากาศอีกด้วย
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ดาวเทียม GOES-U ผ่านการทดสอบการสั่น ซึ่งจะจำลองการสั่นระหว่างการปล่อยเพื่อให้มั่นใจว่าดาวเทียม GOES-U ไม่มีข้อบกพร่องทางด้านโครงสร้างและอาจทำให้ดาวเทียมเสียหายได้ระหว่างการปล่อยซึ่งเกิดการสั่นขึ้นอย่างรุนแรง
การทดสอบการสั่นกระทำโดยการใช้เสียงความดังกว่า 138.4 เดซิเบล เพื่อจำลองการสั่นระหว่างการปล่อยที่ GOES-U จะต้องเจอ
ในช่วงเดือนสิงหาคม 2023 ดาวเทียม GOES-U ผ่านการทดสอบ EMI/EMC (Electromagnetic Interference and Electromagnetic Compatibility) หรือการทดสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อให้มั่นใจว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในอวกาศ เช่น จากรังสี จะไม่รบกวนการทำงานของดาวเทียม
ท้ายที่สุดแล้วก็คือการทดสอบการกางแผงโซลาร์เซลล์ของดาวเทียมซึ่งผ่านไปได้ด้วยดี จึงหมายความว่าดาวเทียม GOES-U นั้นพร้อมสำหรับการปล่อยขึ้นสู่อวกาศแล้ว
นอกจากตัวดาวเทียม GOES-U เองแล้วยังมีอุปกรณ์ใหม่ที่เรียกว่า CCOR-1 (Compact Coronagraph-1) ที่จะถูกติดตั้งไว้กับดาวเทียม GOES-U อีกด้วย โดย CCOR-1 จะถูกใช้ในการศึกษาโคโรนาของดวงอาทิตย์ (ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์) และการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (Coronal Mass Ejection) โดยอุปกรณ์ดังกล่าวก็ต้องผ่านการทดสอบแยกจาก GOES-U อีกด้วย
ที่มาภาพ: Lockheed Martin, NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech