วันนี้ (20 ก.ย.2566) นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่จะฟื้นคืนชีพรัฐสภาจังหวัดว่า เพิ่งประชุมเรื่องการจัดตั้งรัฐสภาจังหวัด เพื่อให้ภารกิจของรัฐสภาเข้าถึงประชาชน และประชาชนสามารถเข้าถึงรัฐสภาได้
โดยวันนี้เป็นการประชุมนัดแรก แต่กลับมีการออกข่าวว่าจะผลาญงบ ซึ่งยังไม่มีการพิจารณาไปจังหวัดไหนเลย และการฟื้นรัฐสภาจังหวัดครั้งนี้ เนื่องจากมีเรื่องเดิมอยู่ในสมัยที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานสภาฯ ได้เริ่มไว้ที่ 6 จังหวัด
และพอมีการรัฐประหาร มีการประเมินว่า 6 แห่ง ที่ไปเริ่มต้น ถูกคณะกรรมการจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาและบอกว่า ไม่ผ่าน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการทุจริตใด ๆ มาวันนี้ สส.จากทุกพรรคมาประชุมร่วมกัน คิดที่จะเริ่มต้นในปีงบประมาณปี2567และ 2568 เพื่อให้เกิดผลว่า การตอบสนองพี่น้องประชาชนจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านมายากลำบากแต่หากมีรัฐสภาจังหวัด การชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชนจะทำได้เร็วขึ้น และจะได้มีกฎหมายจากภาคประชาชนมากขึ้น
ที่มีการระบุว่า สส.ไม่เห็นด้วยและบอกว่า เตรียมการที่จะผลาญงบฯ ครั้งใหญ่นั้น นายพิเชษฐ์ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น และขอชี้แจงต่อสื่อมวลชนให้เข้าใจว่า ฝ่ายนิติบัญญัติต้องการขยับขยาย ที่จะตอบสนองพี่น้องประชาชนมากขึ้น มาวันนี้เราจะเริ่มต้นที่จะทำให้กระบวนการนิติบัญญัติเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนมากขึ้น
และขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดงบประมาณ เพราะเป็นการประชุมครั้งแรก หลังจากนี้ที่ประชุมคงจะได้ปรึกษาหารือ โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่เคยมี ทั้งเรื่องเจ้าหน้าที่เรื่องงบประมาณ 6 แห่งที่เคยทำไว้เพื่อเป็นพื้นฐานที่จะพิจารณาในการดำเนินการในจังหวัดต่าง ๆ ต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่มีเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น
ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมินว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่ และในอดีตก็ใช้งบฯ ตามที่รัฐสภาได้อนุมัติไป และยืนยัน ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น หากมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็มีหลักฐานแล้วว่าทุจริตคอร์รัปชั่นตรงไหน งบประมาณไหนยังไม่มี
นายพิเชษฐ์กล่าวต่อว่า จากการประเมินว่าไม่คุ้มค่า ซึ่งเป็นการประเมินของ สนช.ที่คณะปฏิวัติตั้งขึ้นมาแล้วมาประเมินสภาผู้แทนราษฎร ผมคิดว่าการประเมินครั้งนั้น น่าจะเป็นเพราะอยู่ในอำนาจเผด็จการมากกว่า
ส่วนที่มองกันว่า รัฐสภาจังหวัดจะซ้ำซ้อนกับศูนย์ดำรงธรรมหรือไม่นั้น นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของศูนย์ดำรงธรรม เป็นการทำงานของฝ่ายบริหาร ยืนยันไม่ซ้ำซ้อนแน่นอน เพราะในส่วนของรัฐสภาจังหวัดตรวจสอบฝ้ายบริหารด้วยซ้ำ
นายพิเชษฐ์ยังกล่าวถึงการจัดสรรตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ขอให้ติดตามวันพรุ่งนี้ (21ก.ย.) ซึ่งได้เตรียมกล่อง 2 ใบ เพื่อให้ ตัวแทนพรรคการเมืองได้จับฉลาก หากตกลงกันไม่ได้ เพื่อให้ ส.ส.ลงไปทำงานเพื่อประชาชน ต้องปิดสมัยประชุม ยืนยันว่าการจับสลากเป็นความยุติธรรมที่สุดแล้วโดยใช้หลักเหมือนกกต.แต่หากจับมาแล้วจะนำไปสลับแลกเปลี่ยนกันก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะพิจารณา
ส่วนที่ขณะนี้มีการรับรอง สส.ระยองแล้ว จะได้โควต้าประธานกรรมการเพิ่มขึ้นอีกตำแหน่งหรือไม่นั้น หากสภารับแล้วก็เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าในวันพรุ่งนี้ ยื่นไม่ทันก็ยังถือว่า ยังมี สส.499 คนเหมือนเดิม ดังนั้นอยู่ที่ว่าพรรคก้าวไกลจะยื่นทำหรือไม่ ถ้าทันก็ตามสัดส่วน
ด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่เคยพิจารณาในช่วงปฏิวัติจะไม่นำมาดูเลย เพราะเป็นกรอบความคิดของคณะปฏิวัติที่มามองสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นคนละแบบกัน แต่วันนี้เราต้องการให้รัฐสภาจังหวัดสามารถตรวจสอบติดตามการทำงานฝ่ายบริหาร
สำหรับเรื่องสถานที่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จะใช้ที่ศาลากลางจังหวัด จะต้องดูความพร้อมของแต่ละจังหวัดก่อน โดยจะไม่มีการเช่าสถานที่
โดยโครงสร้างเบื้องต้นกำหนดไว้ 7 คนมาจากส่วนกลาง ทำงานควบคู่กับผู้ช่วย สส.ที่มีอยู่ 8 คนต่อ 1 สส.เพราะ ฉะนั้นกำลังคนจะไม่มีแค่เฉพาะที่เราตั้งไว้ 7 คนเท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา "พรรณิการ์" ตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต
จับกระแสการเมือง : วันที่ 20 ก.ย. 66 ดรามา "อมรัตน์ VS แฟนคลับเพื่อไทย"
เช็กชื่อ สส. 91 คน ป.ป.ช.เปิดบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน 22 ก.ย.นี้