วันนี้ (19 ก.ย.2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เปิดเผยภายหลัง ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าพบเพื่อหารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ กระทรวงมหาดไทย โดยหนึ่งในนั้น คือ ประเด็นปัญหาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งหนี้ การเดินรถที่ กทม. ยังไม่สามารถชำระให้เอกชนได้ รวมถึง สัญญาสัมปทาน และคดีที่อยู่ทั้งศาลปกครองสูงสุด ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในขณะนี้ และ การชี้มูลความผิด ที่ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ลงมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
โดยนายอนุทิน ตอบคำถาม โดยระบุว่าประเด็นนี้ขอหาทางออกให้ได้ก่อน เราจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เราไม่เอาเปรียบผู้ใดผู้หนึ่ง แต่สิ่งที่ดำเนินการต้องพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อระเบียบ เพราะคนที่รับผิดชอบคือ คนที่ต้องรักษากฎหมาย
เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เพราะทุกๆ เรื่องต้องดูที่มาที่ไป ทำไมเป็นเช่นนี้ ทำไมถึงตัดสินใจเช่นนี้ เราต้องศึกษาอย่างละเอียด โดยเฉพาะการชี้มูลจาก ป.ป.ช.ประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษารายละเอียดว่า ทำไม ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และมีข้อมูลไหน ที่อยู่นอกเหนือจากที่กระทรวงมหาดไทยมีอยู่หรือไม่ แต่ยืนยันว่าเราไม่ได้มีเจตนาใดๆ ที่จะทำให้เกิดความล่าช้า
เรื่องนี้ ก็ต้องถือว่าผู้ประกอบการมีความเสียสละในการแบกภาระเหล่านี้ซึ่งรวมถึงต้องดูด้วยว่าทำไมถึงปล่อยให้หนี้พอกพูนมาถึงขนาดนี้
โอเคว่าอย่างน้อยว่า วันนี้ ผู้ว่าฯชัชชาติ ได้มาหารือ และเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะสำคัญทั้งต่อ กทม.สำคัญสำหรับมหาดไทย และสำคัญที่สุด คือสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ เราต้องหาวิธีแก้ไขปัญหา
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.
รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ประเด็นที่มาที่ไปของสัญญาที่ว่า แต่ละหน่วยงานต้องไปดูรายละเอียด ฝั่ง กทม.ก็ต้องดู ฝั่งกระทรวงมหาดไทย ต้องไปรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นแล้วมาหารือกัน
เมื่อถามว่า ประเด็นส่วนต่อขยาย ที่ไม่ได้ผ่านสภา กทม.ในอดีต จะทำให้สัญญาเป็นโมฆะหรือไม่ นายอนุทิน ถึงกับ ถอนหายใจยาว แล้วบอกว่า เรื่องนี้ถึงบอกว่า เป็นเรื่องยาก
"เรื่องนี้ต้องรอบคอบ ที่จะตัดสินใจ จะทำอย่างไร แล้วถ้าสัญญาเป็นโมฆะ ถ้าเกิดเอกชนเขาหยุดเดินรถขึ้นมา แล้วพี่น้องประชาชนเดือดร้อน จะต้องทำอย่างไร แต่มันก็สำคัญคือ การกระทำต่อไป จะทำอย่างไรให้ถูกกฎหมายเพราะเดี๋ยวนี้ถ้าเจตนาว่า ทำไปเพื่อให้ประชาชน ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนแต่ดำเนินไปแบบไม่ถูกต้อง ถึงเวลาก็ต้องเกิดการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ ฟ้องรัฐมนตรี ก็จะมีปัญหากันอีก เราก็ต้องพยายามหาทางออกให้ได้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ ถ้าทุกอย่างเกิดมาด้วยเจตนาสุจริตทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางมันก็ง่ายสำหรับเรา" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน ยังกล่าวด้วยว่า สำคัญคือทำอย่างไรต้องให้ถูกกฎหมาย จะพยายามหาทางออกคดีที่สุด จุดที่มันไม่มีคำว่า "เอ๊ะ" เพราะถ้าทำแล้วมัน "เอ๊ะ" เมื่อไหร่ ก็จะยุ่งเหมือนกัน ไม่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร อย่าให้ทำไปแล้ว มีคำว่า "เอ๊ะ" หรือ คำว่า "เฮ้ย" ถ้าไม่มี 2 คำนี้ ก็จะเดินหน้าได้ แต่ถ้ายังมี การเดินหน้าต่อจะยุ่งยากได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ชัชชาติ" ย้ำ รอความหวัง รบ.ใหม่ ชี้ขาด "ยกเลิก ม.44 - ปมหนี้ BTS"